ปลัด สธ.ยันมีงบวิจัยกัญชา สั่ง นพ.สสจ.เช็กข้อมูลหลังแพทย์ชนบทโพสต์เหน็บ

 ปลัด สธ.ยันมีงบวิจัยกัญชา สั่ง นพ.สสจ.เช็กข้อมูลหลังแพทย์ชนบทโพสต์เหน็บ

ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์เฟซบุ๊กกรณีไม่มีงบประมาณการวิจัยกัญชาทางการแพทย์จากสำนักงบประมาณ โดยแต่ละกรม กองถือว่าเป็น “ศูนย์” แสดงว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นเพียงวาทกรรม ไม่ได้รับความสำคัญและการสนับสนุนอย่างจริงจัง

วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า ขณะนี้ได้มอบหมาย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัด สธ. ดูแลเรื่องนี้ และสอบถามไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) นั้นๆ ว่า การสื่อสารดังกล่าวออกมาจากแหล่งใด ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร กำลังรอข้อมูลตรวจสอบนี้

“ย้ำว่า สธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักฐานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ยากัญชาที่เหมาะสม โดยเราเริ่มดำเนินการตั้งแต่อนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และวิจัยในปี 2562 ในตอนนั้น กรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการทบทวนข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นระบบ และจัดทำแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ ทำให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงว่ายากัญชาว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศในเรื่องใดได้บ้าง หลังจากนั้นโรงพยาบาลและกรมวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยฯ กรมสุขภาพจิต และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างก็เร่งศึกษาวิจัย โดยได้งบประมาณจากกองทุนที่มีหน้าที่สนับสนุนงานวิจัย เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) , สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เนื่องจากมีความคล่องตัวในการดำเนินการวิจัยมากกว่าใช้งบประมาณปกติ ที่ต้องดำเนินการให้ทันในปีงบประมาณ” นพ.โอภาส กล่าว

ปลัด สธ. กล่าวว่า โดยหลักการงบประมาณการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ เป็นงบวิจัยพัฒนา จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาหลายปี การใช้งบประมาณจึงใช้จากสถาบันวิจัย หรือกองวิจัยของแต่ละกรม ไม่ใช่ว่าไม่มีงบประมาณใดๆ เลย ซึ่งที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนเรื่องการวิจัยตั้งแต่ปี 2562-2565 ทำให้เกิดผลงานวิจัยราว 60 เรื่อง และในปี 2566 ยังมีนโยบายศึกษาวิจัยกัญชา กัญชง ครบวงจร ภายใต้งบวิจัยมากกว่า 80 ล้านบาท ซึ่งโดยจะเน้นให้น้ำหนักกับการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

Advertisement

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เวลาทำวิจัยในคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการขอจริยธรรม ต้องผ่านกระบวนการจำนวนมาก ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ปีเดียวจบ เพราะปีงบประมาณส่วนใหญ่จะปีเดียวจบ แต่ในกรมการแพทย์ จะมี รพ. มีเงินบำรุง มีเงินกองทุนวิจัย มีสถาบันวิจัยอยู่ในกรมการแพทย์ มีหน้าที่ดูวิจัยทั้งหมด เพราะเป็นกรมวิชาการ มีกองทุนวิจัยในการให้เงินทำวิจัยอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องกัญชาทางการแพทย์

“จริงๆ ในระบบมีการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์อยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้เป็นความมั่นคงทางยาด้วย เนื่องจากบริษัทยาปัจจุบันไม่ค่อยวิจัยยาจากพืชเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหน่วยงานของรัฐในการศึกษาเรื่องนี้ อย่าง รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ศึกษาเรื่องซีบีดี (CBD) มาช่วยผู้ป่วยติดยาเสพติดชนิดรุนแรง ใช้งบกว่าล้านบาท นอกจากนี้ ยังร่วมกับเอกชนในการวิจัยเรื่องเอาซีบีดีต่อสู้กับมะเร็ง ซึ่งกำลังศึกษาอยู่เช่นกัน” นพ.ธงชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image