ศิริราช เปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์

ศิริราช เปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์

วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ โดยมี ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน แถลงร่วมกับ ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา รศ.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ภญ.กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่สร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การเป็นสมาร์ท ฮอสปิทัล (Smart Hospital) ในการดูแลรักษาพยาบาล ตลอดจนเป็นต้นแบบขององค์ความรู้ระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับรู้ถึงอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมาระยะหนึ่ง จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการรับมือกับภาวะดื้อยาที่เกิดจากการใช้ ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ ในหัตถการความงามอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างได้เข้าถึงความรู้ และการตรวจวินิจฉัยภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

“พร้อมกันนี้ แพทย์ที่ทำการรักษาก็จะมีความรู้ความเข้าใจถึงการทำหัตถการความงามอย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยประเทศไทยในปัจจุบัน การทำหัตถการความงามอย่างการฉีดสารโบทูลินัมท็อกซิน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้ารับบริการโดยที่อาจยังไม่มีความรู้ครอบคลุม และนำมาสู่ความเสี่ยงเกิดภาวะดื้อโบได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีความต้องการใช้โบทูลินัมท็อกซินเพื่อการรักษาโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อในอนาคต” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

Advertisement

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ขอรับการรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินด้วยปัญหาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนนำมาใช้ทางด้านการแพทย์และความสวยงามกันมากขึ้น มักจะรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลายาวนาน ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อผู้ป่วยได้รับสารโบทูลินัมท็อกซินในปริมาณมาก หรือได้รับการรักษาต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้ดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ นำไปสู่การพัฒนาของทีมวิจัย “การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางวิทยาภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาทางคลินิก” เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาในการตอบโจทย์ท้าทายนี้  อันจะนำไปสู่การเลือกวิธีการรักษาต่อไปให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งการพัฒนาการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินโดยเฉพาะบริเวณที่ออกฤทธิ์นี้ เป็นการพัฒนาที่ยังไม่เคยมีผู้คิดพัฒนาต่อยอด จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลก และได้รับการตีพิมพ์วารสารนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย ศิริราชจึงถือเป็นที่แรกที่เดียวในโลกในขณะนี้ที่สามารถตรวจวัดปริมาณและให้การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยไม่ตอบสนองต่อโบทูลินัมท็อกซินได้มากที่สุด

“อย่างไรก็ตาม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช หรือ Siriraj Integrated Center of Excellence (SiCOE) ที่มีงานบริการทางการแพทย์ที่
โดดเด่น เป็นเลิศ บูรณาการร่วมกับการศึกษา วิชาการ และการวิจัย เพื่อให้เป็นศูนย์การแพทย์ต้นแบบทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ผู้มารับบริการ ทั้งในสังคมไทย และสังคมโลก ซึ่งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินศิริราชนี้ เป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและพรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลด้านคลินิกคัดกรองประวัติผู้ป่วยในการวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม และอาจเป็นแนวทางการรักษาที่มีมาตรฐานในวงการแพทย์เวชศาสตร์ความงาม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

Advertisement

ด้าน พญ.ยุวดี กล่าวว่า โบทูลินัมท็อกซินมีความจำเป็นต่อการรักษาโรคทางระบบประสาทในหลายๆ โรค โดยกลุ่มคนไข้คลินิกฉีดยาโบทูลินัมท็อกซินของสาขาประสาทวิทยาที่มารับการรักษามากที่สุดคือ คนไข้โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง ซึ่งการดื้อโบทูลินัมท็อกซินพบได้ในผู้ป่วยที่มารักษาภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง เนื่องจากมีการใช้ยาขนาดสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกที่ใช้ยาขนาดน้อยกว่า ทั้งนี้ โบทูนัมท็อกซิน จะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและบิดเกร็งได้ผลดีมากเมื่อเทียบกับการรักษาโดยการรับประทานยา ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะดื้อยา โดยเฉพาะที่พบบ่อยในคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษาและระยะเวลาของยาออกฤทธิ์ที่ลดลง

“จากความท้าทายของตัวเลขเคสดื้อโบทูลินัมท็อกซิน ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ศ.พญ.รังสิมา
วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา ร่วมกับ รศ.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน จึงพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตของผู้ป่วยที่สงสัยเรื่องภาวะดื้อโบ ด้วยการริเริ่มก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน โดยการคิดหาวิธีทดสอบวัดปริมาณแอนติบอดี หรือ ภูมิคุ้มกันในเลือดผู้ป่วยที่ส่งผลให้การรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินเกิดความล้มเหลว รวมไปถึงพัฒนาชุดความรู้ใหม่ให้กับแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยป้องกันการรักษาที่อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยประสบภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมากกว่าเดิม” พญ.ยุวดี กล่าว

ศ.พญ.รังสิมา กล่าวว่า ภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ได้เป็นที่จับตาในวงการแพทย์เท่าไรนัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่ส่วนประกอบในโครงสร้างของโบทูลินัมท็อกซินกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งจากตัวเลขข้อมูลล่าสุดจากการส่งตรวจเลือดของคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีภาวะดื้อโบในช่วงปี 2564 – 2565 จำนวน 137 ราย พบว่ามีคนไข้จำนวน 79 รายที่มีผลการตรวจเป็นบวก และยืนยันว่ามีภาวะดื้อโบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 58 ทั้งนี้ ในตัวเลขดังกล่าว สามารถจำแนกได้ว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ โดยมีคนไข้ที่มีภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin (โครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์) ร้อยละ 48 ดื้อต่อสาร Complexing proteins (โครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์) ร้อยละ 18 และดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins ร้อยละ 8 จากผลการศึกษาพบว่า บางรายที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังสามารถใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้เห็นผลอยู่ แต่ในเคสส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin นั้น ต้องรอเวลาให้ระดับแอนติบอดีลดลงเท่านั้น ในฐานะแพทย์ จึงอยากแนะนำให้คนไข้เลือกเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคลินิกที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินในอนาคต

รศ.นพ.ยุทธนา กล่าวเสริมว่า การทดสอบเพื่อตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินนั้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนา และการตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิก จนสามารถนำมาให้บริการทางคลินิกในการช่วยเหลือคนไข้ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาคนไข้โดยใช้ข้อมูลทางด้านคลินิก เช่น ประวัติการฉีดโบทูลินัมท็อกซินของคนไข้ว่าเคยฉีดชนิดใดบ้าง ปริมาณมากน้อยเพียงใด ลักษณะการไม่ตอบสนอง เพื่อหาแนวทางการรักษาของคนไข้แต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการเลือกวิธีรักษาหรือเลือกโบทูลินัมท็อกซินได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาฉีดได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย

“ในการก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ได้ร่วมกับ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย บริษัทชั้นนำระดับโลก ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องอัลเทอร่า และเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในคลินิกเสริมความงาม ในการริเริ่ม โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากการมารับการทดสอบที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว ทางบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย โดยร่วมมือกับพันธมิตรคลินิกความงามมากกว่า 40 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ในการสร้างเครือข่ายในการช่วยเก็บข้อมูล และตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะดื้อโบ รวมถึงการนำส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจที่ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินในขั้นตอนถัดไป และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อบรรเทาความกังวลและช่วยลดความรุนแรงของภาวะดื้อโบได้อีกด้วย ทั้งนี้ ยังตั้งเป้าหมายจำนวนคลินิกร่วมโครงการให้ถึง 100 คลินิก ในปีถัดไปด้วย

ภญ.กิตติวรรณ กล่าวว่า โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ เกิดขึ้นจากความห่วงใยของเราต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ที่ปัจจุบันความนิยมเข้ารับการทำหัตถการฉีดโบทูลินัมท็อกซินเพื่อเสริมความงามเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอยากมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน ออกสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ยังเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่เพื่อให้ความรู้เรื่องภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน และคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินด้วย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image