สธ.-พม.คิกออฟฉีดวัคซีนโควิดในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน กระตุ้นผู้ปกครองให้ความสำคัญ

สธ.-พม.คิกออฟฉีดวัคซีนโควิดในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน กระตุ้นผู้ปกครองให้ความสำคัญ

ดมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดกิจกรรมเสริมภูมิปฐมวัยป้องกันภัยโควิด-19 ในกลุ่มเปราะบาง โดยเป็นการคิกออฟฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์ ฝาสีแดงเข้ม สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ให้แก่เด็กในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท จ.นนทบุรี เป็นแห่งแรก ทั้งนี้ บรรยากาศมีการตกแต่งสถานที่ด้วยลูกโป่งให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลาย และมีเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ดูแลปลอบโยนเด็กๆ ตลอดการฉีดวัคซีน ซึ่งวันนี้มีการฉีดเด็กจำนวน 100 คน จากที่เข้าเกณฑ์ 300 คน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากคิกออฟฉีดวัคซีนเด็กเล็ก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นรูปแบบการฉีดภายใน รพ. ผ่านคลินิกสุขภาพเด็กดี ขณะนี้เราส่งวัคซีนไปทั่วประเทศเพื่อรณรงค์ฉีดแล้ว อย่างไรก็ตาม เรามีนโยบายให้วัคซีนกลุ่มเปราะบาง จึงประสาน พม.มาฉีดที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท อ.ปากเกร็ด เป็นแห่งแรก ซึ่งจะมีการฉีดในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนอีก 8 แห่ง ทั่วประเทศ 1,000 คน ซึ่งได้ส่งรายชื่อทั้ง 8 แห่ง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แล้ว เพื่อดำเนินการฉีดต่อไป โดยกรมควบคุมโรคสนับสนุนวัคซีน 3,000 โดส

“การฉีดที่บ้านเด็กอ่อนถือเป็นหน่วยเคลื่อนที่นอก รพ.มีความปลอดภัย เพิ่มการเข้าถึงและความครอบคลุม เนื่องจากเด็กเล็กมีอัตราป่วยตายกว่าเด็กโต 3 เท่า เน้นสะอาดปลอดภัย ใช้เทคนิคปลอดเชื้อ มีการเฝ้าระวังอาการหลังฉีด” นพ.ธเรศกล่าว

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้มีเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ประมาณ 2.2 ล้านคน คาดว่าจะมีการฉีด ร้อยละ 50 คือ 1 ล้านคน จึงเตรียมวัคซีนไว้ 3 ล้านโดส ขณะนี้เข้ามาอยู่ในคลังแล้ว 1 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายนจะเข้ามา 1 ล้านโดส และเดือนธันวาคม อีก 1 ล้านโดส

“ขอให้ผู้ปกครองพาเด็กไปฉีด เพราะช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ทำให้ใช้ชีวิตเล่นกับเพื่อนๆ ได้ไม่มีความกังวล ยิ่งเปิดเรียนและใกล้ช่วงหน้าหนาว มีโอกาสที่เด็กๆ จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ปัจจุบันมีหลักฐานแน่นอนว่า วัคซีนเด็กเล็กใช้มากกว่าล้านโดสแล้ว ส่วนในประเทศไทยฉีดกว่าหมื่นโดส ก็ปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้น” นพ.ธเรศกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มฉีดวัคซีนเด็กเล็ก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ยอมพาเด็กไปฉีด นพ.ธเรศกล่าวว่า เรามีความร่วมมือกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ก็จะขอให้กุมารแพทย์ที่ถือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ผู้ปกครองเชื่อถือ ช่วยแนะนำผู้ปกครองเมื่อพาบุตรหลานไปพบแพทย์ว่าควรรับวัคซีน แม้เด็กเล็กจะติดเชื้อแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันลดลงเร็วมาก หลังติดเชื้อ 2-3 เดือน ก็ควรพาไปฉีด นอกจากนี้ จะประสานความร่วมมือการฉีดในศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงโรงเรียนอนุบาล ก็จะขยายการรณรงค์ฉีดแบบเดียวกับสถานสงเคราะห์เด็กต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image