รมว.สุชาติ ฝากการบ้าน 10 ข้อ สปส.ยกระดับชีวิตผู้ประกันตน

รมว.สุชาติ ฝากการบ้าน 10 ข้อ สปส.ยกระดับชีวิตผู้ประกันตน

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปส. โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เข้าร่วม

นายสุชาติกล่าวว่า สปส.ขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยมีเป้าหมายสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตนมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่างๆ การพัฒนาระบบประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย จนกระทั่งก้าวผ่านพ้นวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปได้

“วันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผมได้มีโอกาสมาประชุมพร้อมตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของ สปส.ทุกภาคส่วน ได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” นายสุชาติกล่าว

ADVERTISMENT

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติราชการแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปส.เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวมในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.พัฒนาสิทธิประโยชน์ โดยแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยเพิ่มหลักการ 3 ขอ คือให้ผู้ประกันตนสามารถ (1) “ขอเลือก” รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (2) “ขอคืน” ในกรณีเกิดเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้ประกันตน ให้สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ และ (3) “ขอกู้” โดยการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้และมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ เพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตรเป็น 98 วัน (เดิม 90 วัน) และเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพเป็นร้อยละ 70 (เดิม ร้อยละ 50)

2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ประกันตน โดยขอให้ศึกษาความเป็นไปได้และสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกันตน เพื่อกำหนดแนวทางในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ

3.จัดตั้งสถาบันการแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้ประกันตน รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ประกันตน สำหรับโรคเฉพาะทาง โดยไม่ต้องไปรอการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยใช้โมเดลเดียวกันกับโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์

4.การส่งเสริมสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อให้การดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเข้าถึงได้โดยง่าย โดยให้คำแนะนำและคำปรึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง และป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5.ขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานอิสระภาคสมัครใจ สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกันตนให้ความสำคัญในการส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มช่องทางชำระเงินสมทบ

6.จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อผู้ประกันตนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ได้ฝากผู้ประกันตนให้เชื่อมั่นในรัฐบาล เชื่อมั่นสำนักงานประกันสังคมที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ผู้ประกันตนต่อไป

7.การประชาสัมพันธ์ สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม ผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการรับบริการประกันสังคม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อ สปส.

8.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบริการ และระบบงานประกันสังคม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยความสะดวก แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้ได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว

9.การบริหารการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทน ขอให้ สปส.เตรียมการและจัดทำแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ รัดกุม มุ่งสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงของกองทุนเป็นหลักสำคัญ

10.การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้มีความทันสมัย (Modernizing SSO) มีความคล่องตัวโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และสร้างองค์กรที่เป็นสุข Happy Workplace ต้อง Balance ชีวิตให้สมดุล ทั้งการงาน ครอบครัวและสุขภาพ

“ผมขอขอบคุณและให้กำลังใจในการทำงานของผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สปส. ที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการทำงานที่สำคัญยิ่ง พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นเสาหลักและเป็นที่พึ่งอันมั่นคงของลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุชาติกล่าว