อนามัยโลกชมไทย สำเร็จ! พัฒนาสมรรถนะหลักตาม IHR 2005 มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

อนามัยโลกชมไทย สำเร็จ! พัฒนาสมรรถนะหลักตาม IHR 2005 มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เปิดเผยว่า ผลการประเมินสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2548 (IHR 2005) โดยคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ที่เรียกว่า International Health Regulations Joint External Evaluation (IHR-JEE) ซึ่งเป็นการประเมินสมรรถนะของประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ในประเด็นทางเทคนิค 19 ด้าน จำนวน 56 ตัวชี้วัด โดย ดร.สมิรา อัสมา (Dr.Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้นำคณะประเมิน ได้กล่าวชื่นชมการบริหารจัดการด้านสุขภาพระหว่างเกิดวิกฤตโควิด-19 ว่า เป็นการดำเนินงานที่โปร่งใส มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบ (Transparency, Visibility, Efficiency and Accountability)

“ซึ่งความสำเร็จของประเทศไทยครั้งนี้ แสดงถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน และมีตัวอย่างที่โดดเด่นด้านการเฝ้าระวังคัดกรองโรค คือ การตรวจพบผู้ป่วยโควิด 19 รายแรกนอกประเทศต้นตอการระบาด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาล ด้วยแนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายอนุทิน กล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ที่ประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ จำนวน 26 คน ได้ให้ความเชื่อมั่นประเทศไทยด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.25 จากคะแนนเต็ม 5 โดยใช้ตัวชี้วัด 56 ตัวของประเด็นทางเทคนิค 19 ด้าน

Advertisement

“แสดงให้เห็นว่า เรามีความก้าวหน้าในการพัฒนาสมรรถนะหลัก ตัวชี้วัดส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่มีผลงานประจักษ์และยั่งยืน ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม (Whole-of-government and whole-of-society response) ในทุกระดับ ทำให้การพัฒนาสมรรถนะดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ครั้งแรกในปี 2560 ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 3.75 จาก 5 คะแนน โดยขณะนั้นวัดจาก 48 ตัวชี้วัด” นพ.ธเรศ กล่าวและว่า สำหรับผลลัพธ์จากการประเมินสมรรถนะหลักครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขของไทยตามกฎอนามัยระหว่างประเทศต่อไป โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อเสนอแนะมาวางแผนพัฒนาการปฏิบัติงาน และยกระดับขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ทั้งโรคติดต่อ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ความปลอดภัยด้านอาหาร เหตุการณ์ฉุกเฉินทางเคมีและรังสี ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image