สปสช.-กทม.สร้างความเชื่อมั่นระบบสุขภาพคนกรุง เพิ่มหน่วยบริการ พัฒนาระบบส่งต่อ

สปสช.-กทม.สร้างความเชื่อมั่นระบบสุขภาพคนกรุง เพิ่มหน่วยบริการ พัฒนาระบบส่งต่อ

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระบบบริการสาธารณสุขพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ทศวรรษที่ 3 สู่การสร้างความเชื่อมั่นเครือข่ายระบบบริการสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร” ซึ่งได้พูดคุยถึงเป้าหมายของระบบบริการสุขภาพต่อจากนี้ รวมถึงแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการ

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า ในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลในสังกัด กทม.12 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์สาขาอีก 13 แห่ง ที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชน แต่ กทม.ยังไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุม โดยหากอิงตามทะเบียนราษฎร์ กทม. มีประชากรราว 5 ล้านคน ในพื้นที่ รวมถึงถ้าดูข้อมูลประชากรที่ลงทะเบียนระบบบัตรทองในกรุงเทพฯ มีถึง 7.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ กทม. สามารถให้บริการได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

Advertisement

“ที่ผ่านมา ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะสั้น 90 วัน เช่น การจัดตั้งศูนย์ผู้พิการเบ็ดเสร็จ คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (Pride Clinic) ฯลฯ ซึ่งต่อจากนี้ จะมีการพัฒนาระบบและเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ระบบบัตรทอง การตั้งศูนย์ฟื้นฟูเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Rehab Center) ฯลฯ รวมถึงยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเข้มแข็งให้ชุมชน” นพ.สุขสันต์ กล่าวและว่า กทม.จะขยายการสร้างเครือข่ายระบบบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ซึ่งมีการดำเนินการและประสบความสำเร็จไปแล้วบางส่วน ได้แก่ กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ดุสิตโมเดล ราชพัฒน์โมเดล โดยได้สร้างบริการ เช่น การมีรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ โมบายแล็บ (Mobile Lab) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ตลอดจนกระบวนการรักษาแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เพราะ กทม.ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ จะต้องมีความร่วมมือจากเครือข่ายในกรุงเทพฯ ทั้ง สปสช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะต้องมาจับมือกันเพื่อทำให้เกิดระบบการให้บริการ

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แม้ กทม.จะมีหน่วยบริการด้านปฐมภูมิเป็นหลักที่ให้บริการอยู่ แต่ในจำนวนที่มีอยู่ยังไม่สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทั้งหมด ดังนั้น ต่อจากนี้อาจต้องเพิ่มหน่วยบริการเสริมในส่วนนี้ โดยอาศัยระบบการดูแลรักษาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาให้เป็นโอกาสที่จะต่อยอดให้เกิดขึ้น เช่น ร้านยาชุมชนอบอุ่นที่สามารถแนะนำและคัดกรองโรคทั่วไปได้ ซึ่งมีการเปิดให้บริการแล้วบางพื้นที่

Advertisement

“เราน่าจะมีทางเลือกหลายๆ ทาง ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งสิ่งที่ สปสช. น่าจะช่วยได้มากที่สุดคือ ระบบฐานข้อมูล และสนับสนุนการเบิกจ่าย เพื่อให้เกิดการวางแผนร่วมกันและบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้ สปสช. สามารถตรวจสอบได้ด้วยว่าบริการเกิดขึ้นจริงด้วย” พญ.ลลิตยา กล่าว

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีคนบริหารจัดการระบบ สปสช. ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการทั้งหมด รวมถึงออกแบบการเบิกจ่ายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นจึงอยากให้มีผู้บริหารจัดการพื้นที่ (Area Manager) ที่จะสามารถจัดการทั้งข้อมูลและระบบในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น

ขณะที่ พล.อ.อ.นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. กล่าวว่า การจะทำระบบส่งต่อที่พึงประสงค์และมีประสิทธิภาพ โดยหลักแล้วไม่มีอะไรที่ซับซ้อน แต่ประเด็นอยู่ที่ความพึงประสงค์ ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วนที่เป็นตัวกำหนด ได้แก่ 1.ผู้รับบริการ 2.สถานพยาบาลที่ส่งต่อ 3.สถานพยาบาลที่รับส่งต่อ และ 4.สปสช และโดยทั่วไปในแต่ละส่วนจะใช้เกณฑ์ทั้งหมด 5 มิติ ได้แก่ 1.คุณภาพ 2.ความปลอดภัย 3.ประสบการณ์ 4.เจ้าหน้าที่ และ 5.การเงิน ในการพิจารณา

พล.อ.อ.นพ.ทวีพงษ์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ระบบเกิดความซับซ้อนและแปรปรวน และจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายมีความคาดหวังของตนเอง จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการที่จะลดความแปรปรวนของระบบได้คือ โรงพยาบาลต้องร่วมมือกันตั้งแต่ต้นโดยสร้างเครือข่ายในการแบ่งปันและสนับสนุน 3 สิ่ง ดังนี้ 1.บุคลากร 2.ทรัพยากร และ 3.ความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การออกแบบต่อเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงทำมาตรฐานคลินิกที่มาร่วมเป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดความไหลลื่นในการส่งต่อ ตลอดจนเชื่อมฐานข้อมูลแต่ละหน่วยบริการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image