ทวงนายกฯ พิจารณา ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ยาแก้มะเร็งร้ายเชิงโครงสร้าง ยกเคส ผชช.ผึ้ง ถูก PM 2.5 คร่าชีวิต

เครือข่ายฯ ทวงนายกฯ พิจารณา ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ยกเคสผู้เชี่ยวชาญผึ้ง ถูกมะเร็งปอด PM 2.5 คร่าชีวิต ยันต้องมีกฎหมายเป็นยาแก้มะเร็งร้ายเชิงโครงสร้าง

วานนี้ (14 พ.ย.) เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.. .” โดยประชาชนกว่า 22,251 รายชื่อ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารับรองของนายกรัฐมนตรี จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณา และออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด

สำหรับแถลงการณ์ เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย มีเนื้อหาความว่า

ตามที่ปัจจุบัน ปรากฏกระแสข่าวว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อย ป่วย หรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดโดยไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ และมีข้อมูลเด่นชัดขึ้น ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดกับปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 และ PM 10 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่มีความเข้มข้นเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอย่างมาก เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ในฐานะหน่วยหนึ่งที่ขับเคลื่อนด้านองค์ความรู้และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเชิงระบบด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ เพื่อรับรองและคุ้มครอง “สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด” ของประชาชนในประเทศไทย จึงขอออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ถึงภัย และเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

  1. ปัจจุบันมีข้อมูลและผลการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากที่ยืนยันว่า มลพิษในอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 เป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลทางวิชาการที่ระบุถึงภัยของ PM 2.5 ว่ายังก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองอุดตันเฉียบพลัน สมองเสื่อม เบาหวาน ความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โรคหอบหืด โรคซึมเศร้า โรคอ้วน เยื่อบุตาอักเสบ จมูกอักเสบ ผื่น และภูมิแพ้ ซึ่งภัยของฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นผลจากทั้งขนาดที่เล็กมาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าขนาดเส้นผมถึง 30-40 เท่า ทำให้สามารถเข้าสู่ปอดได้ลึก และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย และที่อันตรายมากกว่านั้นคือ สิ่งที่ติดมากับฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นโลหะหนัก (ตะกั่ว ปรอท) สารก่อมะเร็ง (พีเอเอ็ช) และสารก่อการกลายพันธุ์ (ไดอ๊อกซิน (dioxin) โดย PM 2.5 ยังได้ถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 อีกด้วย

 

Advertisement
  1. เมื่อไม่นานมานี้ มีบทเรียนครั้งสำคัญของสังคมไทยที่ยืนยันถึงภัยของฝุ่นพิษ คือการที่เราต้องสูญเสีย รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผึ้งระดับโลก ที่จากไปเพราะโรคมะเร็งปอดเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาในวัยเพียง 45 ปี ท่านอาจารย์ไม่สูบบุหรี่หรือมีความเสี่ยงอื่น 1 ของโรคมะเร็งปอด เว้นแต่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหามลพิษทางอากาศสูงมากมาอย่างยาวนาน ท่านจึงได้ปวารณาตน ขอเป็นกรณีตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก และติดตามการผลักดันการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันมาโดยตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิตของท่าน

 

  1. สถานการณ์ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกินค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกอย่างมากในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของคนไทยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้สร้างความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ให้กับสังคมไทยอย่างมาก มีผลการศึกษาวิจัยในปี 2563 พบว่า ฝุ่น PM 2.5 สร้างความเสียหายให้กับครัวเรือนในทุกจังหวัดของประเทศไทย เช่น มูลค่าความเสียหาย ในกรุงเทพฯ คิดเป็น 343,288 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ เชียงใหม่ (66,766 ล้านบาท/ปี) นครราชสีมา (65,044 ล้านบาท /ปี) นนทบุรี (51,052 ล้านบาท /ปี) เชียงราย (49,492 ล้านบาท ปี) และขอนแก่น (44,614 ล้านบาท/ปี) ตามลำดับ หากรวมทุกจังหวัด ความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจากฝุ่นพิษ PM 2.5 จะมีมูลค่าสูงถึง 1.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.98% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ข้อมูลข้างต้นนี้แสดงถึงมูลค่าความเสียหายจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ

 

  1. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวและเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีบทบาทในการดำเนินนโยบาย กระทั่งฝ่ายนิติบัญญัติที่มีบทบาทในการออกกฎหมายของประเทศ ให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด นำมาสู่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน เพื่อเสนอร่างกฎหมายที่ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.. .” โดยประชาชนกว่า 22,251 รายชื่อ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากได้รับการตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงินและกระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวยังหยุดนิ่ง โดยไม่มีท่าทีว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดหรือไม่ และเดินต่อไปในทิศทางใด

 

Advertisement
  1. ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฎหมายว่าด้วยการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และต้องเป็นกฎหมายที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบอย่างเร่งด่วน “ความล่าช้าของการมีกฎหมายและนโยบายการจัดการปัญหาที่ดี ย่อมหมายถึงความสูญเสียในชีวิตของคนไทย และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” และเราทุกคนก็มีความเสี่ยงที่อาจต้องเผชิญความสูญเสียนั้นอย่างไม่รู้ตัว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาสุขภาพ และเป็น “มะเร็งร้ายกัดกินประเทศไทย” มาอย่างยาวนาน เราเห็นปัญหานี้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่แก้ไม่ได้เสียที การเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … ” จึงเป็น “ยาแก้มะเร็งร้ายเชิงโครงสร้าง” ที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างบูรณาการและยั่งยืน

 

เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณา และออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด โดยเฉพาะต้องให้ความสำคัญต่อ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ…..” อันเป็นกฎหมายที่มาจากภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพของคนในปัจจุบันและอนาคต โดยเป็นกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างบูรณาการทั้งระบบ เพื่อให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวงจรการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า แยกส่วน และไร้ประสิทธิผล การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและการจัดการเพื่ออากาศสะอาดเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผลในระยะยาว แต่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้ เพราะสังคมไทยกำลังเผชิญกับความสูญเสียและในแต่ละนาทีที่ผ่านไปลมหายใจของผู้ประสบภัยจากมลพิษทางอากาศหลายๆ คนกำลังค่อยๆ แผ่วลง

14 พฤศจิกายน 2565

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image