อนุทิน ถก ปลัด สธ.สั่งพิจารณาค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขา ยันดูแลเต็มที่

อนุทิน ถก ปลัด สธ.สั่งพิจารณาค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขา ยันดูแลเต็มที่

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์กรณีถูกถามถึงนโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขว่า จะมีของขวัญปีใหม่ด้วยการปรับเพิ่มค่าตอบแทนวิชาชีพต่างๆ หรือไม่ ว่า อะไรทำได้ ทำอยู่แล้ว โดยตนได้หารือกับปลัด สธ.ในการพิจารณาเรื่องนี้ อะไรที่ให้ได้ไม่เกินตัวเราก็พร้อมจะเร่งดำเนินการให้บุคลากรทุกวิชาชีพ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยกั๊ก อะไรทำได้เราทำ แต่ไม่ใช่ว่าจะให้แต่วิชาชีพใด เราดูภาพรวม

ผู้สื่อข่าวถามกรณีพยาบาลออกมาเรียกร้องค่าตอบแทนค่าเวรที่ได้เพียง 240 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่ภาระงานหนัก เราจะปรับเพิ่มตรงนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า จริงๆ ทำงานหนักหมดทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน แต่ทาง สธ.เข้าใจและเห็นใจทั้งหมด ซึ่งล่าสุด ปลัด สธ.ได้รายงานมาแล้วว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน สิ่งสำคัญต้องไม่แลกกันว่าเราทำงานหนักจึงต้องได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นทุกฝ่ายก็จะให้ข้อมูลตรงนี้หมด

“เราตั้งใจดูแลทุกวิชาชีพอย่างเต็มที่ ไม่ได้เลือกวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้กำชับว่า ต้องดูแลทุกวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาและดูตัวเลขที่เหมาะสม ต้องมีหลักเกณฑ์มารองรับ โดยจะมีการหารือกับทางชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นผู้อนุมัติการใช้จ่ายตรงนี้ว่า จะทำได้หรือไม่อย่างไร คงต้องมองทั้ง 2 ด้าน อย่างที่ท่านรองนายกฯให้นโยบายไว้ว่าตั้งใจดูแลทุกคนที่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข แต่เราก็ต้องมองผลกระทบด้วยว่ามีเงินที่จะใช้ในการดูแลตรงนี้อย่างไร เบื้องต้นคงจะมีการสรุปภายในสัปดาห์นี้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นจะต้องใช้เงินบำรุงใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ใช่ ต้องดูแลให้ครบถ้วนถ้าเงินไม่มีแล้วจะเอาอะไรไปจ่ายปัญหาคือเงินพอหรือไม่ ถ้าเงินพอแล้วจะกระทบต่อโรงพยาบาลระยะยาวหรือไม่

“ทั้งนี้ ในภาพรวมก็ต้องดูว่าตัวเลขพอหรือไม่ ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลเรามีหลายแบบ มีทั้งสภาพคล่องทางการเงิน และอาจสภาพคล่องไม่มาก แต่อย่าง รพ.ที่มีปัญหาสภาพคล่องระดับ 7 มาก่อนนั้น ตอนนี้เพิ่งฟื้นขึ้นมาก็ต้องมาพิจารณาว่า หากจะทำจะมีผลกระทบหรือไม่ อย่างไร ต้องพิจารณาเป็นรายโรงพยาบาล” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามว่า การปรับค่าตอบแทนทุกวิชาชีพ จะมีการปรับปรุงทุกประกาศค่าตอบแทนหรือไม่ เช่นประกาศค่าตอบแทนฉบับที่ 11 นพ.โอภาสกล่าวว่า ต้องดูภาพรวมก่อน บางฉบับก็อาจปรับ แต่บางฉบับอาจไม่ต้อง ทั้งหมดต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อทุกคน ต้องมีเหตุผล มีหลักการว่าจะปรับขึ้นเพราะอะไร เช่น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพเพิ่มไม่ได้ปรับมานาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทน ที่มี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. เป็นประธาน คาดว่าจะประชุมสัปดาห์นี้ หากได้ผลออกมาเรียบร้อยก็จะสามารถประกาศได้ ส่วนเรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 นั้น มีทั้งงบเงินกู้และงบกลาง ซึ่งมีระเบียบการใช้แตกต่างกัน โดยงบเงินกู้ต้องขอรับการสนับสนุนผ่านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และต้องแจกแจงข้อมูลอย่างละเอียดและเข้มงวด ซึ่งงบทั้ง 2 ส่วน ไม่สามารถนำมาเกลี่ยกันได้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแยกให้วิชาชีพใดได้รับเงินก่อน ทั้งนี้ สธ.จะพยายามติดตามและจัดสรรให้ครบถ้วนต่อไป

Advertisement

ด้าน นพ.ทวีศิลป์  กล่าวว่า บุคลากรที่ สธ.ขอรับการสนับสนุนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด-19 ประกอบด้วย กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคอื่นๆ และกลุ่มบุคลากรที่สนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจะต้องเป็นผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย มีการปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมถึงต้องมีคำสั่งมอบหมายหรือให้ไปปฏิบัติงานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้รวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงานของบุคลากรในจังหวัด พร้อมตรวจสอบและรับรองว่ามีการปฏิบัติงานถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ส่งให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่อไป

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำนักงานปลัด สธ.ได้ขอรับการสนับสนุนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด-19 เดือนพฤศจิกายน 2564 – มิถุนายน 2565 รวมทุกกลุ่ม ประมาณ 13,500 ล้านกว่าบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากงบเงินกู้ 11,500 ล้านกว่าบาท ซึ่งตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ กำหนดให้จ่ายได้เฉพาะกลุ่มวิชาชีพ กลุ่มเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคอื่นๆ ส่วนกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติงาน ประมาณ 2,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขอสนับสนุนจากแหล่งงบประมาณอื่น โดยได้ขอรับการสนับสนุนจากงบกลางปี 2565 และได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณ 871 ล้านบาท และมีหนังสือแจ้งการจัดสรรไปจังหวัดต่างๆ ลดทอนลงตามสัดส่วน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 โดยให้เร่งรัดเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่วนงบประมาณส่วนที่ยังขาด ให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลและรายงานสำนักงานปลัด สธ. ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพื่อรวบรวม พิจารณา และประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งอื่นกับสำนักงบประมาณต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image