รพ.จุฬาภรณ์ จับมือพันธมิตร ทุ่มไม่อั้นเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติก 150 ราย ฟรี! ทุกสิทธิ

รพ.จุฬาภรณ์ จับมือพันธมิตร ทุ่มไม่อั้นเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติก 150 ราย ฟรี! ทุกสิทธิ

วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการดูแลสุขภาพหัวใจ “Happy Heart Connect เชื่อมต่อทุกหัวใจให้แข็งแรง” เชื่อมต่อทุกการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจสู่ผู้ป่วยทั่วประเทศ กับโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกเทียมผ่านสายสวน เพื่อส่งเสริมและขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูงให้กับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอ ออร์ติกตีบ ที่ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์ ซึ่งตั้งแต่ ปี 2563 ดำเนินการเปลี่ยนลิ้นหัวใจรวม 121 ราย ล่าสุด เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี รพ.จุฬาภรณ์ จะเปิดรับสมัครผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโครงการเพิ่มอีก จำนวน 150 ราย

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการ รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬาภรณ์ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศที่พร้อมให้บริการดูแลด้านการตรวจรักษาในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดแก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาอย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรมบริการสุขภาพสู่สถานพยาบาลเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยได้จัดทำโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVR :Trans catheter Aortic Valve Replacement) เพื่อมอบโอกาสทางการรักษาให้แก่ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจด้อยโอกาสจากทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่ปกติสุข และมีหัวใจที่แข็งแรงอีกครั้ง

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด จัดเป็นภัยอันดับต้นๆ ของคนไทย และยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจมีภาวะอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว ทำให้คนไทยมีสถิติตามรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึงปีละ 70,000 ราย

Advertisement

“ฉะนั้น สถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจของไทยยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นภัยเงียบ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเรื่องไขมันอุดตัน ซึ่งหลายคนเข้าใจและพยายามควบคุมโรคเพื่อป้องกันการเป็นโรคหัวใจตีบ แต่วันนี้ที่เราเน้นคือ โรคลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกตีบ ที่มีการเปิดปิดอยู่ตลอดเวลา ใช้ไปนานๆ ก็เกิดการติดขัด ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ หากเกิดในกลุ่มผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ส่วนใหญ่จะมีประวัติเคยเป็นไข้รูมาติกเมื่อเป็นเด็ก ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะมีปัจจัยมาจากความเสื่อมของร่างกาย” ศ.นพ.นิธิกล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.นิธิกล่าวว่า ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ มีอาการหน้ามืดเป็นลม ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนค่ารักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกที่สูงถึง 1 ล้านบาท ก็จะเหมือนกับนวัตกรรมทางการแพทย์ในอดีตที่ผ่านมา เช่น การใส่บอลลูน ที่เคยมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เมื่อทำมากขึ้น มีผลดีขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง

Advertisement

“นี่ก็เช่นเดียวกัน ในที่สุดค่าใช้จ่ายก็จะลดลง แต่ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องทำ TAVR เพราะหลายคนอายุมาก มีความเสี่ยงในการผ่าตัด ดังนั้น การเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวนก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัด” ศ.นพ.นิธิกล่าว และว่า เป้าหมายของโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกตีบ 150 ราย จะดำเนินต่อเนื่องใน 1 ปี แต่หากแพทย์สามารถทำได้มาก บริษัทที่สนับสนุนจะเปลี่ยนให้ฟรี เช่น รายที่ 151-160 จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย

ด้าน นพ.ดํารงค์ สุกิจปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า ได้เล็งเห็นว่ากลุ่มผู้ป่วยลิ้นหัวใจตีบส่วนใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากไม่ได้เข้าถึงการรักษา อีกทั้งการรักษามีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะค่าลิ้นหัวใจ 1 ลิ้น มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาทต่อคน ใน

“โอกาสครบรอบ 13 ปี รพ.จุฬาภรณ์ ทางศูนย์ฯ มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสให้ได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเพิ่มอีก จำนวน 150 ราย ควบคู่กับการดำเนินโครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกเทียมผ่านสายสวน หรือ TAVR สัญจร เชื่อมต่อสถานพยาบาล สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง โดยนำองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคลิ้นหัวใจจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬาภรณ์ ไปเผยแพร่สู่ รพ.ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ชั้นสูงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นพ.ดํารงค์กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจฯ รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกเทียมผ่านสายสวน เปิดรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกตีบ หรือผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าถึงการรักษา สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการโดยมีหลักเกณฑ์การเข้าร่วมประกอบด้วย 1.เป็นคนไทยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกตีบรุนแรง 2.อายุ 70 ปี ขึ้นไป หรือกรณีอายุ 65-70 ปี และมีโรคร่วมที่เสี่ยงต่อการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก 3.ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกสูง 4.ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ -อร์ติกมาก่อน และ 5.กรณีผู้ป่วยมีโรคมะเร็งร่วมด้วย ต้องไม่อยู่ในภาวะโรคมะเร็งระยะลุกลาม

“ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้จะได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกผ่านสายสวน 1 ลิ้น เท่ากับ 1 ล้านบาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเบิกจ่ายการทำหัตถการตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย สามารถสมัครด้วยตนเองหรือให้สถานพยาบาลส่งต่อเพื่อเข้าถึงการรักษาได้ที่ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬาภรณ์” นพ.ดํารงค์กล่าว

นพ.วิโรจน์ เมืองศิลปศาสตร์ อายุรแพทย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอ-ออร์ติกตีบในช่วงแรก มักจะไม่แสดงอาการ เพราะเกิดจากการสะสมของหินปูนที่เกาะอยู่บริเวณลิ้นหัวใจ ดังนั้น ผู้ป่วยหลายรายที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ เช่น การตรวจหัวใจด้วยความถี่สูง (ECHO) ก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะลิ้นหัวใจตีบ ก็จะไปถึง รพ. ตอนที่อาการของโรครุนแรงแล้ว เช่น เมื่อออกแรงแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก มีอาการแน่นหน้าอก หรือบางรายที่มีอาการมากอาจจะเกิดภาวะหมดสติได้ ส่วนภาวะที่กลัวที่สุด คือ ภาวะน้ำท่วมปอด เพราะข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยที่น้ำท่วมปอดกว่าร้อยละ 50 จะเสียชีวิตภายใน 2 ปี ทั้งนี้ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเป็นการรักษาที่หายขาด เพราะการใช้เทคนิคสายสวนคือ การเอาลิ้นหัวใจใหม่ใส่ทับกับของเก่า ให้กลับมาทำงานได้ดีเป็นปกติ

“สำหรับความคิดที่หลายคนเข้าใจว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดจะเกิดในผู้ที่มีภาวะอ้วน ส่วนคนผอมก็จะไม่มีความเสี่ยงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ป่วยหลายรายที่มารักษาก็ไม่ได้มีภาวะอ้วน แต่แน่นอนว่า ผู้มีภาวะอ้วนก็จะมีความเสี่ยงมากกว่า ดังนั้น การคัดกรองตัวเองด้วยการตรวจสุขภาพเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ” นพ.วิโรจน์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image