เปิดชื่อแพทย์-นักวิจัย เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

เปิดชื่อแพทย์-นักวิจัย เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2565) ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ  อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายธานี แสงรัตน์  เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 31 ประจำปี 2565

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า สำหรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ราล์ฟ เอ ดีฟรอนโซ (Ralph A. DeFronzo, M.D.) ศาสตราจารย์ สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ผลงานแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) โดยพิจารณาเลือกยาตามกลไกการเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละรายและศึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และลดน้ำหนักเพื่อทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ซึ่งแนวคิดและผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการนำไปใช้ในการศึกษาต่อยอดและเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างแพร่หลายทั่วโลก

Advertisement

 

ส่วน สาขาการสาธารณสุข มี 3 คน ได้แก่ นพ.ดักลาส อาร์ โลวี (Douglas R. Lowy, M.D.) รองผู้อำ นวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา

Advertisement

 

ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ (John T. Schiller, Ph.D.) นักวิจัยดีเด่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ
และรองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา

 

และ ศ.นพ.เอียน เอช เฟรเซอร์ (Ian H. Frazer, MB.ChB, M.D.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย/สหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ นพ.ดักลาส อาร์ โลวี และ ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของ ฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งอนุภาคคล้ายไวรัสนี้ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี ขณะเดียวกัน ศ.นพ.เอียน เอช เฟรเซอร์ ก็ได้ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ซึ่ง  นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากอนุภาคคล้ายไวรัสเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และสามารถนำเสนอลักษณะทางแอนติเจนที่เป็นธรรมชาติ
ต่อระบบภูมิคุ้มกัน

ผลงานของนพ.ดักลาส อาร์ โลวี, ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ และ ศ.นพ.เอียน เอช เฟรเซอร์
เป็นงานต่อยอดของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 และรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 ซึ่งค้นพบเชื้อฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (เอชพีวี) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก

โดยผู้รับรางวัลจะได้เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล จำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐ

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ทั้งสิ้น 88 ราย จาก 34 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2564, ปี 2563, ปี 2562 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รวม 90 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 4 ราย ได้แก่ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับ ศ.พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และนพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับ นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552

โดยมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จำนวน 5 ราย ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน ได้แก่ ศ.แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2548

ศ.เกียรติคุณ นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2551

ศ.ซาโตชิ โอมูระ จากประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2540
จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิด สเตรฟโตมัยซีส เอเวอร์มิติลิต จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin เพื่อใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558

ศ.ตู โยวโยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม china cooperative research group on qinghaosu and its derivatives as antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558

เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้าง และดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและลดความเป็นสิ่งแปลกปลอม (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายากลุ่มใหม่ จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2561

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image