เคลียร์ชัด! กม.คุมช่อดอกกัญชา ฉบับล่าสุด เช็กเลยต้องขออนุญาตที่ไหน

เคลียร์ชัด! กม.คุมช่อดอกกัญชา ฉบับล่าสุด เช็กเลยต้องขออนุญาตที่ไหน

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2565) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กับถึงความชัดเจนในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ฉบับที่ 2 ซึ่งควบคุมเฉพาะ “ช่อดอก” หากจะนำไปศึกษาวิจัย จำหน่าย แปรรูปใดๆ ต้องขออนุญาตก่อน โดยมีผลบังคับใช้วันนี้เป็นวันแรก ว่า สำหรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอก ไม่ต้องขออนุญาตกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ แต่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การนำใบไปใส่อาหาร จะต้องเป็นไปตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การใช้กัญชาปรุงอาหาร ว่าจะต้องใช้ไม่เกินกี่ใบ ต้องมีป้ายแจ้งกับลูกค้าว่ามีส่วนผสมของกัญชา หรือหากเอาส่วนอื่นไปทำผลิตภัณฑ์สุขภาพ ก็จะเป็นการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้ออกประกาศมาแล้วทุกชนิดว่า แต่ละผลิตภัณฑ์ต้องมีส่วนประกอบจากสารสกัดทีเอชซี (THC) และ สารสกัดซีบีดี (CBD) ไม่เกินเท่าไร

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับประกาศกระทรวงฯ เรื่องควบคุมช่อดอกทั้งกัญชาและกัญชงในรูปแบบสดและตากแห้ง ที่กระทำเพื่อการจำหน่าย ที่รวมถึงการแจกจ่ายด้วย กรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกใบอนุญาต

“ฉะนั้น ไม่ใช่จะเอาช่อดอกกัญชาไปแจกคนได้ เพราะต้องมาขออนุญาตก่อน หากทำโดยไม่ขอ ก็จะผิดกฎหมาย หรือขออนุญาตแล้วแต่กระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดก็ถูกยึดใบอนุญาต หากทำต่อก็ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราจะชี้แจงกับผู้ประกอบการอีกครั้ง ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับอนุญาตไปแล้วนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ก็จะทำหนังสือไปแจ้งเงื่อนไข ระเบียบการตามประกาศฉบับใหม่ให้ทราบโดยทั่วกัน หลังจากที่ชี้แจงกับผู้ประกอบการเรียบร้อยแล้ว คาดว่าอีก 2-3 สัปดาห์ ทางทีมก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบการรายต่างๆ เพื่อหาดูว่ามีผู้กระทำผิดเงื่อนไขที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ และที่สำคัญอีกเรื่องคือ ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีความผิด” นพ.ธงชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขออนุญาตศึกษา จำหน่าย แปรรูปช่อดอกกัญชาทำอย่างไรบ้าง นพ.ธงชัย กล่าวว่า ตามที่มีประกาศกระทรวงฯ เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565 ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 16 มิถุยายน 2565 ที่ขณะนั้นคุมกัญชา กัญชงทั้งต้น ไม่ว่าใครจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรก็ต้องมาขออนุญาตก่อน

Advertisement

“ซึ่งตอนนั้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ออกแนวทางการขออนุญาตใช้สมุนไพรควบคุม เพื่อศึกษาวิจัย หรือ จำหน่าย แปรรูป ส่งออกเพื่อการค้าไว้ให้ผู้ประกอบการศึกษาแล้วมาขออนุญาต ตอนนี้เราปรับปรุงประกาศ แต่ยังยึดแนวทางขออนุญาตฉบับดังกล่าวเหมือนเดิม เพียงแต่ตอนมาขออนุญาตในปัจจุบันก็จะมีเงื่อนไขใหม่ให้รับทราบปฏิบัติ” นพ.ธงชัย กล่าว

เมื่อถามว่า เงื่อนไขใหม่ที่คิดว่าเป็นความเข้มงวดขึ้นคืออะไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า ถ้าดูตามประกาศ ตนมองว่าเงื่อนไขที่ 3 มีความสำคัญ เพราะผู้ที่ได้รับอนุญาตต้องทำรายงาน ซึ่งขณะนี้ มีรูปแบบจดบันทึก และกำลังพัฒนาระบบให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2566 แต่เบื้องต้นขณะนี้ผู้ได้รับอนุญาตต้องทำแบบรายงานเสนอให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ก่อน และหากจะส่งออกก็ต้องรายงานแจ้งข้อมูลเป็นรายครั้ง

“สำคัญคือ ห้ามจำหน่ายให้เด็ก สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร นักเรียน นักศึกษา ห้ามสูบในร้านที่จำหน่าย ห้ามขายผ่านเครื่องอัตโนมัติ รวมถึงระบบออนไลน์ ห้ามโฆษณาขายทุกรูปแบบ และห้ามกระทำในพื้นที่ที่กำหนด เช่น วัด สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก” นพ.ธงชัย กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า หากจะซื้อช่อดอกกัญชา ตรวจสอบได้หรือไม่ว่าร้านนั้นๆ ได้ขออนุญาตแล้ว นพ.ธงชัย กล่าวว่า หากเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต จะต้องติดใบการได้รับอนุญาตแจ้งไว้ที่หน้าร้าน รวมถึงจะต้องทำรายงานว่าขายให้กับใคร มีการตรวจสอบผู้ที่จะซื้อด้วย ทั้งนี้ หากไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดแน่นอน

เมื่อถามว่า ประกาศฉบับนี้ ถือว่ามีความชัดเจนที่สุดแล้วหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ถือเป็นความชัดเจนที่สุดในขณะนี้ แต่หากใช้ไปแล้วมีความเห็นว่าควรปรับเพิ่มอย่างไร ทางคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา สามารถประชุมหารือร่วมกับการรับฟังความคิดเห็น ดูผลกระทบ และส่งให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบลงนามในประกาศต่อไปได้

“ประกาศนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับผู้ประกอบการ เขาบอกว่าดีเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเอาไปใช้เพื่อสันทนาการ การออกประกาศก็เป็นการสร้างโอกาสให้เราได้ทำผลิตภัณฑ์กัญชามากขึ้น โดยไม่ถูกกล่าวหาว่าคุมไม่ได้ แล้วจะถูกนำกลับไปเป็นยาเสพติดอีก” นพ.ธงชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เผยแพร่แนวทางการขออนุญาตใช้สมุนไพรควบคุม เพื่อศึกษาวิจัย หรือ จำหน่าย แปรรูป ส่งออก เพื่อการค้าตามกฎหมาย ฉบับปรับปรุง วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ในเว็บไซต์ https://cro.moph.go.th/moph/thaimed/REG3.pdf

ทั้งนี้ ระบุว่า การขออนุญาต แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ขออนุญาตศึกษาวิจัยสมุนไพรควบคุม (ม.48 ยกเว้นให้โครงการศึกษาวิจัยของหน่วยงานรัฐ) 2.ขออนุญาตจำหน่าย/แปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า และ 3.ขออนุญาตส่งออกสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมต่างกันออกไป ทั้งนี้ การขออนุญาตสามารถดำเนินการได้ 2 จุด คือ 1.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี และ 2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image