สธ.รับ คาดไม่ถึงคนหัวใส เลี่ยง กม.เปิดพื้นที่สูบกัญชา ลั่น! ถ้าเอาผิดไม่ได้ ต้องออกประกาศเพิ่ม

สธ.รับ คาดไม่ถึงคนหัวใสเลี่ยง กม.เปิดพื้นที่สูบกัญชา ลั่น! ถ้าเอาผิดไม่ได้ ต้องออกประกาศเพิ่ม

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงชี้แจงกรณีการใช้กฎหมายควบคุมช่อดอกกัญชา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 ว่า นโยบายของรัฐบาล และ สธ. เน้นย้ำเพื่อใช้กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ไม่ส่งเสริมการใช้เพื่อสันทนาการ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่เป็นยาเสพติดแล้วเราจึงต้องมีกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยข้อมูลของกัญชาที่ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดเมื่อช่วง 70 ปีที่ผ่านมา จึงถูกจำกัดในการใช้เพื่อศึกษาวิจัย ทำให้ข้อมูลของกัญชายังมีจำกัด แต่หลายประเทศเริ่มมีความรู้มากขึ้น

ซึ่งประเภทของแคนนาบินอย พบใน 3 กลุ่ม คือ 1.ในร่างกายมนุษย์มีระบบ Endocannabinoids เพื่อควบคุมความสมดุล โดยมีตัวรับในอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย 2.สารที่มาจากพืชกัญชา เรียกว่า Phytocannabinoids และ 3.สารสังเคราะห์ Synthetic Cannabinoids อย่างไรก็ตาม สารที่อยู่ในกัญชามีหลายตัว หลักๆ คือ THC CBD ที่ฤทธิ์ต่อจิตประสาทคือ THC ที่มีตัวย่อยๆ ไปอีก

“ถ้าจะกังวลกัญชาคือ THC ส่วน CBD เป็นส่วนที่มีประโยชน์ลดการอักเสบ หลายคนจึงเอาไปใช้ในครีม หรือใช้เป็นยากิน ดังนั้น ที่เราต้องคุมช่อดอกเพราะมี THC เยอะ บ้านเรามีประมาณ 5-20% ของช่อดอก หรือบางพันธุ์มากกว่านั้นเป็น 30% แต่ส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นใบ กิ่ง ราก เมล็ด ที่มี THC ประมาณ 0.2% ซึ่งจะใกล้เคียงกับปริมาณที่ควบคุมเป็นยาเสพติด แต่เราต้องดู CBD ด้วย มีประมาณ 0.2% ทำให้ฤทธิ์ THC ลดลงด้วย เป็นที่มาว่า หากเอาใบไปสูบ จะไม่เกิดผลต่อจิตประสาท แต่ถ้าเป็นช่อดอกก็จะมี THC สูง เกินที่กำหนดไว้ 0.2% และปริมาณสูงขึ้นเมื่อโดนความร้อน เราจึงคุมช่อดอกเป็นหลัก ส่วนข้อสงสัยว่าตาม พรบ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สามารถคุมเฉพาะส่วนได้หรือไม่ จึงต้องเรียนว่าอนุกรรมการกฎหมายจากกระทรวงต่างๆ เข้ามาร่วมพิจารณา ก็เห็นชอบว่าสามารถทำได้” นพ.ธงชัย กล่าว

Advertisement

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศฯ ล่าสุด ระบุว่า ผู้ที่จะเอาช่อดอกไปศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายหรือแปรรูปต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.คุ้มครองภูมิปัญญาฯ ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ก่อน ส่วนต่างจังหวัดก็ขอที่สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด หากไม่ขอก็จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา เมื่อได้รับใบอนุญาตไปก็ต้องแสดงในสถานประกอบการ โดยต้องปฏิบัติเงื่อนไข ดังนี้ 1.ทำข้อมูลแหล่งที่มา การนำไปใช้ รายงานปริมาณ 2.หากจะส่งออก ต้องแจ้งรายครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลในการควบคุมไปตอบสังคมโลกได้ ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระ โดยกรมฯ กำลังพัฒนาระบบอีเลกทรอนิกส์อยู่ สามารถเสียบบัตรประชาชน กรอกข้อมูลการขายว่ากี่กรัม ให้ใครไปบ้าง

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับที่เป็นประเด็นตอนนี้คือ ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการ เว้นแต่การประกอบวิชาชีพต่างๆ โดยร้านก็พยายามที่จะหาทางออกกัน แต่ต้องเรียนว่า การนำเข้ากัญชาจะมีแบบสูบและหยดใต้ลิ้น เพราะการกินจะเข้าทำลายตับบางส่วน แต่การสูบหรือหยดใต้ลิ้นจะเข้ากระแสเลือดโดยไม่ผ่านตับทำให้ออกฤทธิ์เร็วขึ้น ดังนั้น ความอันตรายจากการสูบคือสาร THC ออกฤทธิ์ทันที หากใช้มากเกินก็จะมีอาการหน้ามืด ใจสั่น ไม่สามารถรับกัญชาเข้าไปได้อีก ดังนั้นจริงๆ การสูบแม้จะออกฤทธิ์เร็ว แต่ถูกจำกัดปริมาณด้วยอาการที่เกิดขึ้น ก็จะสูบต่อไม่ได้ กลับกัน หากใช้วิธีกินเข้าไป เช่น ช่อดอกผสมในอาหารที่ผิดกฎหมายอยู่ในตอนนี้ แต่เมื่อออกฤทธิ์ช้าทำให้คนกินไปในปริมาณมาก ก็จะเป็นอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงออกเป็นประกาศห้ามใส่ช่อดอกในอาหาร มีความผิดจำคุก 2 ปี

“ที่ห้ามสูบในสถานประกอบการ หลายคนบอกว่า กำหนดห้ามสูบเลยได้หรือไม่ จริง ๆ เราห้ามได้ไม่ทั้งหมด เพราะห้ามได้เฉพาะ ถ้าเขียนว่าห้ามสูบก็จะแปลว่าห้ามสูบเท่านั้น ไม่ได้ห้ามเอาไปทำอย่างอื่น ส่วนที่ห้ามสูบในร้าน ก็เพราะจะเป็นความเสี่ยง เช่น ออกไปขับรถ ขณะที่วันนี้เรายังไม่มีกฎหมายควบคุมปริมาณกัญชาในเลือดเหมือนแอลกอฮอล์ เรารอกฎหมายที่จะมาช่วยกำกับ ส่วนการประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์แผนไทยที่ใช้การสูบกัญชาเพื่อรักษา เรายกเว้นให้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเอาหมอมานั่งในร้านเพื่อสูบกัญชา ตรงนี้คนละนัยยะ” นพ.ธงชัย กล่าว

Advertisement

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า แพทย์ไม่สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมนอกสถานพยาบาลได้ ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษอาญา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท เป็นโทษของแพทย์เท่านั้นไม่ใช่โทษของร้านที่มีโทษเพียงพักใช้ใบอนุญาต ทั้งนี้ หากร้านที่อยากทำตรงนี้ให้ได้ ต้องไปขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลตามมาตรฐาน มีการรักษาจริง ไม่ใช่เปิดมาเพื่อขายช่อดอก

เมื่อถามว่าบางพื้นที่เปิดห้องสำหรับสูบกัญชา ที่แยกออกมาจากสถานที่จำหน่าย เช่นห้องสูบบุหรี่ ทำได้หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกัญชา อย่าหาวิธีการหลบเลี่ยงเพื่อใช้สันทนาการ อย่างกรณีนี้ต้องไปดูว่ามีความผิดในกฎหมายอื่นหรือไม่ แต่ในส่วนของประกาศสมุนไพรควบคุม ก็เหมือนท่านกำลังเลี่ยงอยู่ หากหาความเชื่อมโยงได้ก็มีความผิด แต่ไปติดในกฎหมายฉบับอื่น เช่น เหตุรำคาญตามประกาศของกรมอนามัย

“หากประเด็นนี้มีความสำคัญ เราปรับประกาศได้ เพียงแต่ว่าตอนเราออก เราคิดไปไม่ถึงว่าจะมีคนมีความพยายามเป็นอย่างมาก ฉะนั้น เบื้องต้นเราดูความเชื่อมโยงว่าถ้าร้านไปจัดโซนให้สูบ ก็จะมีความผิด แต่ถ้าเชื่อมโยงไม่ได้ก็ต้องไปเอากฎหมายอื่นมาประกอบ” นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.เทวัญ ธานีรัตนนิว

ด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบกรมแพทย์แผนไทยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากจะควบคุมการที่ผู้ประกอบการจัดโซนนิ่งให้สูบกัญชา ต้องรอกฎหมาย พรบ.กัญชาฯ ที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภา เพราะสามารถให้กระทรวง ออกประกาศกำหนดโซนนิ่งได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลา 16.00 น. กรมการแพทย์แผนไทยฯ ผู้บริหารสธ. เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานคร จะลงตรวจสอบพื้นที่ถนนข้าวสาร เพื่อดูการเปิดร้านจำหน่ายช่อดอกกัญชาว่าถูกต้องหรือไม่ และเพื่อทำความเข้าใจด้านกฎหมายในทิศทางเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image