พะยูนไทย เพิ่มปริมาณ แต่ยังป่วย-เกยตื้นสูง

พะยูนไทย เพิ่มปริมาณ แต่ยังป่วย-เกยตื้นสูง

วันที่ 6 ธันวาคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า พะยูนในประเทศไทยพบแพร่กระจายอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แบ่งเป็นกลุ่มประชากรย่อย ที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะต่างๆ ประกอบด้วย เกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จังหวัดตรัง เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จังหวัดพังงา อ่าวป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล เกาะพระทอง จังหวัดพังงา หมู่เกาะกรูด จังหวัดตราด อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อ่าวทุ่งคาสวี จังหวัดชุมพร อ่าวบ้านดอน จังหวัด สุราษฎร์ธานี อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี และอ่าวเตล็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

จากการสำรวจสถานภาพใน     ปี พ.ศ. 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว โดยพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยพบประมาณ 31 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันพบประมาณ 242 ตัว แม้ว่าจากการสำรวจจะพบว่าประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ยังมีการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนอยู่ทุกปี ซึ่งมีการตายจากสาเหตุต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ถูกกระแทกด้วยของแข็ง เงี่ยงปลากระเบนแทง อุบัติเหตุ และเครื่องมือประมง

Advertisement

การเกยตื้นของพะยูนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) พบ พะยูนเกยตื้นรวม 18 ตัว โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการป่วยร้อยละ 73

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ตุลาคม – ธันวาคม 2565)    พบพะยูนเกยตื้นรวม 7 ตัว โดยเป็นการเกยตื้นในพื้นที่จังหวัดระยอง 1 ตัว ชลบุรี 1 ตัว ตรัง 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว    สุราษฎร์ธานี 2 ตัว โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการป่วย 3 ตัว (ร้อยละ 43) สาเหตุจากการถูกกระแทกด้วยของแข็ง (กระดูกซี่โครงหัก) 2 ตัว ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดชลบุรี (ร้อยละ 29) สาเหตุจากการป่วยร่วมกับการคาดว่าติดเครื่องมือฯ 1 ตัว (ร้อยละ 14) และไม่ทราบสาเหตุจากสภาพซากเน่ามาก 1 ตัว (ร้อยละ 14)

Advertisement

นายอรรถพล กล่าวว่า  ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนรวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด ผ่านกระบวนการทำงานภายใต้  “มาเรียมโปรเจค” ซึ่งผลความสำเร็จสามารถเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนในธรรมชาติจาก 250 เป็น 273 ตัว และในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 280 ตัว

สำหรับการอนุรักษ์พะยูนนั้น สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ การสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของพะยูนและระบบนิเวศหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์อย่างเต็มใจ โดยเราจะเริ่มต้นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ต่างรักและหวงแหนในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างมาก

โดยทช. จะมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ทำความเข้าใจ และเพิ่มเติ่มความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนมาอยู่ในสภาพ   ที่สมบูรณ์อีกครั้ง งดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน หรือในแหล่งหญ้าทะเล ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ล่าและบริโภคเนื้อพะยูน

รวมทั้งงดการซื้อ-ขายชิ้นส่วนอื่นๆ ของพะยูน ไม่ใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน เช่น อวนปิดอ่าว อวนรัง อวนรุน อวนลอยกระเบน และไม่ทำประมงในพื้นที่ที่มีพะยูนอาศัยอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ กรม ทช. ได้นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูน เพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์พะยูน แทนการใช้เรือประมงออกลาดตระเวน อีกทั้งเฝ้าระวังไม่ให้มีคนเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมายซึ่งจะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image