ปลดล็อกทางเท้า! ‘ศรีปทุม’ ผนึก กทม.-มูลนิธิอารยสถาปัตย์-ปชช. นำร่องเส้นทางสัญจรต้นแบบ

ปลดล็อกทางเท้า! ‘ศรีปทุม’ ผนึก กทม.-มูลนิธิอารยสถาปัตย์-ปชช. นำร่องเส้นทางสัญจรต้นแบบ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม คณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผนึกภาคีการพัฒนาเมือง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เดินหน้าโครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน” แก้ไขปัญหาทางเท้าและสะพานลอยจากบริบทเมืองที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ทางเท้าแคบ บันไดสะพานลอยขวาง โดยใช้พื้นที่บางบัว-สะพานใหม่ ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร เป็นต้นแบบการพัฒนาและสำรวจร่วมกับภาคประชาชนเพื่อออกแบบแก้ปัญหาตามให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง คงอัตลักษณ์ของชุมชน

นายธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการว่า วัตถุประสงค์แรกที่จำเป็นต้องมีคืออยากให้เส้นทางสัญจรต้นแบบประสบความสำเร็จในพื้นที่ที่คาดหวัง ความยาว 4.3 กม. จากบางบัวถึงตลาดยิ่งเจริญ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยตัวเอง โดยกลไกประสบความสำเร็จคือ “ความร่วมมือ” เชื่อว่า กทม.ทำมานานแล้วและมีควาพยายามอย่างหนัก รวมทั้งมูลนิธิอารยสถาปัตย์ก็รณรณงค์ต่อเนื่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นผู้เชื่อมโยงทุกฝ่าย

นายธีรบูลย์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าคณะการออกแบบฯและทุกๆ คณะเน้นการเรียนแบบให้นักศึกษาลงไปทำงานในพื้นที่จริง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โปรเจ็กต์นี้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยที่อยากให้นักศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกกระบวนการ

Advertisement

นายธีรบูลย์กล่าวต่อว่า เวลาพูดถึง “ยั่งยืน” ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่คนพูดถึงและเป็นนโยบายประเทศนั้น “ยั่งยืน” มักเกิดจากนิเวศสิ่งที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงทุกภาคส่วน นิเวศนี้ย่อมได้ประโยชน์ทุกภาคส่วน

“เราเริ่มต้นจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัย คณะ กทม. มูลนิธิอารยสถาปัตย์ ประชาชนในพื้นที่ นี่คือส่วนสำคัญในการเริ่มต้นความยั่งยืน ความยั่งยืนไม่ได้เกิดแค่ 4 ส่วน แต่ต้องการคนที่เข้ามามากกว่านี้ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้า ประปา สื่อสาร ไปรษณีย์ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘ทางเท้า’ อาจต้องเข้ามาร่วมมือกันในการจัดระเบียบ” นายธีรบูลย์กล่าว

คณบดีกล่าวอีกว่า สุดท้ายที่อยากเน้นย้ำและคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้สำเร็จคือ “ภาคเอกชน” กล่าวคือพื้นที่ที่เข้าไปสำรวจและปรับปรุง เรารู้ตลอดว่าการทำงาน หรือธุรกิจเชื่อมโยงทั่วโลก เงื่อนไขแต่ละภูมิภาคคือต้องการให้องค์กรทำงานเพื่อสังคม เชื่อว่าทำอยู่แล้ว แต่เป็นไปได้ไหมว่าหากในอนาคตนิเวศนี้ขยายไปยังเอกชนด้วยการมี “แพลตฟอร์ม” ให้เข้ามาร่วมมือกับเรา เพื่อส่งเสิรมการร่วมมือ อาทิ ค่าใช้จ่าย ดูแลพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง เชื่อว่าเอกชนในพื้นที่นั้นๆ จะช่วยดูแลและรักษาพื้นที่ของเราให้ยั่งยืน

Advertisement

นายประสิทธิ์ อินทโฉม รองผู้อำนวยการ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ตระหนักถึงการใช้ทางเท้าและสะพานลอย เนื่องจากกายภาพอาจเปลี่ยนแปลง หรือไม่สอดคล้องกับผู้พิการ บางจุดทรุดตัวเร็ว ทำให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุไม่ได้รับความสะดวก บางทางเท้าดี แต่สตรีทเฟอร์นิเจอร์กีดขวาง ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก

นายประสิทธิ์กล่าวว่า กทม.ร่วมมือกับผู้พิการ เพราะหากออกแบบโดยไม่คำนึงถึงผู้ใช้ ไม่คำนึงความต้องการของประชาชน รวมทั้งห้างร้านต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณที่เราปรับปรุง หากของบประมาณไปแล้วภาคต่างๆ มาปรับปรุงต่อถือว่าไม่ยั่งยืน เพราะต้องแก้ไข ดังนั้น กทม.มองถึงความร่วมมือ รวมถึงการบูรณาการ

นายประสิทธิ์กล่าวต่อว่า กรณี “ทางเท้า” นั้น กทม.มอบสำนักการโยธาดูแล แต่เราไม่ได้ดูแลผู้เดียว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน ดังนั้น ต้องมีการบูรณาการและคงามร่วมมือ

“ที่ผ่านมาเราปรับปรุงทางลาด MRT สถานีสามยอด เชื่อมถนนคลองโอ่งอ่าง เพื่อดูว่าคนพิการสามารถใช้ได้หรือไม่ ต่อมานำข้อมูลไปปรับปรุงให้เกิดความเชื่อต่อ ทางลาดไม่ชันเกินไป รวมทั้งเกาะกลางที่ผ่านไม่ได้ จึงตัดออกและทำให้เรียบเสมอ เดินเป็นทางแยกได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ถนนสีลมเสร็จสิ้นแล้ว ได้ประโยชน์พอสมควร ได้รับรางวัลด้วย” นายประสิทธิ์ระบุ

ด้าน นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์ กล่าวว่า ด้วยรูปแบบผังเมืองปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ทางเท้าแคบลง มีสิ่งกีดขวาง พื้นขรุขระ ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะกับผู้พิการ ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว การเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองไม่สะดวก ขาดความปลอดภัย

กฤษณะ ละไล

นายกฤษณะกล่าวว่า ปัจจุบันพบปัญหาที่ผู้พิการและผู้สูงอายุในการสัญจรทางเท้า เช่น ผู้ใช้วีลแชร์สัญจรไม่ได้เพราะบันไดสะพานลอยกีดขวางทำให้ทางเท้าแคบลง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บนทางเท้าถูกขยับขยายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เอื้อต่อผู้ใช้ทางเท้า ทั้งนี้ การเชื่อมโยงทางสัญจรให้สามารถเชื่อมโยงใช้งานกันอย่างทั่วถึงไร้รอยต่อ ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย

“คนพิการไม่มี แต่มีเพียงสภาพแวดล้อมที่พิการ หากร่วมมือแก้ไขสภาพแวดล้อมที่พิการได้จะเป็นแก้ปัญหาทางสัญจรที่ยั่งยืน ทำให้ กทม.เป็นหนึ่งในเมืองน่าอยู่บนหมุดแผนที่โลกได้สำเร็จ” นายกฤษณะระบุ

นายกฤษณะกล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุนี้การคำนึงถึงการออกแบบทางเท้าให้สามารถรองรับการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ตามหลักออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ทุกคนได้มีสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคต่างๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต ดังนั้น การออกแบบอารยสถาปัตย์ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการใช้งานที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ใช้งาน วัสดุอุปกรณ์ ราวจับ ความลาดชัน รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเอื้อต่อความสะดวกให้การเดินทางตามวัตถุประสงค์ของ โครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน”

ขณะที่ นายปิยะบุตร เทียนคำศรี ประธานทูตอารยสถาปัตย์ กทม. ประธานภาคกลาง ในฐานผู้อาศัยอยู่ซอยพหลโยธิน 63 และเป็นผู้ให้ข้อมูลกับโครงการมาโดยตลอด ระบุว่า สะพานลอยพหลโยธิน 61 กึ่ง 63 คับแคบ รถเข็นไปไม่ได้ ต้องลงพื้นผิวจราจร เสี่ยงต่อความปลอดภัย ทางเท้าและทางลาดไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากชันเกินไป

สำหรับการปรับปรุงพื้นที่ทางสัญจรริมถนน กรณีต้นแบบ “บางบัว-สะพานใหม่” ประกอบด้วยโครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน ประกอบด้วย

1.ปัญหาสะพานลอย-ทางเท้า ลักษณะที่ 1

จากปัญหาพื้นที่ด้านข้างบันไดสะพานลอยทั้งสองด้านไม่เพียงพอ และมีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ทั้งนี้ มีแนวทางการไขปัญหาโดยปรับย้ายสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อทางเท้าที่สามารถเคลื่อนคล้ายได้ อาทิ ย้ายตำแหน่งเสา Barrier ในจุดที่ตรงกับเสาตอม่อสะพานลอยออก

2.ปัญหาสะพานลอย-ทางเท้า ลักษณะที่ 2

ปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก โดยลดความกว้างลง โดยระยะความกว้างไม่รวมราวบันได ไม่ต่ำกว่า 0.70 เมตร เพื่อให้มีความกว้างบนทางเท้าให้ผู้คนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกมากขึ้น

และ 3.ปัญหาสะพานลอย-ทางเท้า ลักษณะที่ 3

บันไดสะพานลอยและทางเท้าเดิมมีช่องทางสัญจรกว้างไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้วีลแชร์ในการเดินทาง สู่การขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคาร โดยปรับความกว้างบันไดใน 2 รูปแบบ

– การแก้ไขปัญหารูปแบบที่ 1 คือลดความกว้างบันไดสะพานลอย จากตำแหน่งชานพัก เพิ่มความกว้างทางสัญจรมากขึ้น
– การแก้ไขปัญหารูปแบบที่ 2 คือลดความกว้างบันไดสะพานลอย และปรับให้ขั้นบันไดวางอยู่บนคานแม่บันได เพื่อเพิ่มความกว้างทางสัญจรให้ได้มากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image