ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมยกระดับสุขภาพคนในองค์กรด้วย “ออกกำลังกาย” สะสมข้อมูลเผาผลาญแคลอรีผ่านแอพพ์ พร้อมต่อยอดระดับประเทศ

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมแสดงถ้อยแถลงขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) เพื่อการยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชนบนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ รศ.นพ.องค์การ เรืองรัตนอัมพร รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมแสดงถ้อยแถลงในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ในมติการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้ แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อการยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน ว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวิสัยทัศน์ ในการสร้างสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรมและความเป็นเลิศ ยึดหลักปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ ปัจจุบันพบว่าประชากรของประเทศไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น สาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวานและความดันโลหิตสูง ตามลำดับ ทั้งนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะส่งผลถึงการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของประเทศลงได้

“การทำให้ประชากรในประเทศหันมาออกกำลังกายมากขึ้น จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญยิ่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมภาคีเครือข่าย ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำกิจกรรมทางกายและการจัดแข่งขันกีฬา จึงจัดกิจกรรม CRA Calories Credit Challenge เพื่อส่งเสริม กระตุ้น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา และกิจกรรมทางกายของนักศึกษาและบุคลากร ผ่านแอพพลิเคชัน CCC ในการสะสมแคลอรีเป็นระดับกลุ่มงาน ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2565 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2566 และมีแผนการขับเคลื่อนแอพพ์ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในกิจกรรม Calories Credit Challenge Thailand ระดับประเทศ โดยมุ่งเน้นในการจัดกิจกรรมในระดับท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดต่อไป” รศ.นพ.องค์การ กล่าว

รศ.นพ.องค์การ กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริม กระตุ้นการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา กิจกรรมทางกายและจัดเก็บเป็นข้อมูลกลาง (Big Data) สำหรับติดตามประเมินผล ส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณสุข เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม โดยนำมาเชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ที่ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตลอดจนการเชื่อมโยงนโยบายระดับชาติ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับสร้างสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image