อนุทิน เปิดของขวัญคนไทยปี 2566 “ดูแลสุขภาพผู้สูงวัย” ส่งเสริมให้พึ่งพาตัวเองได้

อนุทิน เปิดของขวัญคนไทยปี 2566 “ดูแลสุขภาพผู้สูงวัย” ส่งเสริมให้พึ่งพาตัวเองได้ เผย แนวคิดขยายช่วงอายุ “อาวุโส” ถึง 70 ปี เหตุยังสามารถดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมแถลงข่าวการประกาศนโยบายของขวัญปีใหม่กระทรวงสาธารณสุข “2566 ปีแห่ง สุขภาพผู้สูงวัย”

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว หากยึดจากเกณฑ์ตัวเลขอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวน 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรไทย และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตนมองว่าหากสามารถขยายการกำหนดช่วงอายุเป็น 60-70 ปี ซึ่งปัจจุบันคนที่อยู่ในกลุ่มนี้ยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าเป็น “สูงวัยใจวัยรุ่น” (young at heart) ฉะนั้นเราต้องสร้างความพร้อมทางสุขภาพเพื่อจะเป็นย่างก้าวต่อไป ทั้งนี้ การขยับเกณฑ์ดังกล่าวต้องได้ความเห็นชอบจากภาคส่วนอื่นๆ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดขอบเขตอายุงาน แต่ สธ. มัวรอไม่ได้ เราจึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้มีความแข็งแรง อยู่ได้โดยไม่เป็นภาระ เพราะถ้าย้อนไป 50 ปีก่อน คนที่อายุ 50 ปีในยุคนั้นดูอาวุโสกว่าคนอายุ 50 ปีในยุคนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

นายอนุทิน กล่าวว่า ในปี 2566 สธ.มีความพยายามทำให้การดูแลผู้สูงอายุเกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น จึงกำหนดให้เป็นปีแห่งการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยกรมอนามัย และ สปสช. ได้กำหนดแพคเกจสุขภาพผู้สูงวัย ได้แก่ 1.แว่นสายตาทั้งสั้นและยาว 5 แสนชิ้น 2.ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 5 ล้านชิ้น โดยบอร์ดสปสช.เห็นชอบให้เรื่องนี้บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ปี 2566 และ 3.ฟันเทียม 36,000 ราก และรากฟันเทียม 3,500 ราก รวมไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีการเยี่ยมจากหน่วยงานสาธารณสุข นอกจากนี้ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ทำให้มีการออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทางกรมสุขภาพจิต ก็ได้เตรียมแนวทางการปรับสภาพสังคมของไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นนี้ด้วย เพื่อจัดระเบียบความคิด สร้างขวัญกำลังใจให้ผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น มีคนดูแลแทนลูกหลานถ้าจำเป็นและเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้รวดเร็ว ให้มีอายุยืนยาวเพราะคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ใช่เพราะยา

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับแผนการมอบของขวัญให้แก่ผู้สูงอายุให้ครอบคลุมและทั่วถึงดังนี้ 1.ให้กรมกรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต พัฒนาแบบคัดกรองผู้สูงอายุ โดยแบบใช้แบบคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย, ภาวะโภชนาการ, การมองเห็น. การได้ยิน, การกลั้นปัสสาวะ, ภาวะซึมเศร้า, ภาวะสมองเสื่อม, การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และสุขภาพในช่องปาก 2.ให้อสม.ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คัดกรองภาวะถดถอยของผู้สูงอายุด้วยแอพพลิเคชั่น “Blue book” เพื่อถ่ายโอนข้อมูลเข้าสู่ระบบ รพ. 3.ให้รพ.ทุกแห่งพัฒนาคลินิกผู้สูงอายุรองรับการส่งต่อ การคัดกรองความเสี่ยง และ 4.สปสช.สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณที่จำเป็นสำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุผ่านกองทุนบัตรทอง กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น และกองทุนการดูแลระยะยาว โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับดำเนินการประเมินความต้อง และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสุขภาพผู้สูงอายุแต่ละราย ทั้งนี้จะมีการติดตามการมอบของขวัญแก่ผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับการสนับสนุนแว่นสายตา 5 แสนชิ้น จะใช้งบฯ กองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น ส่วนผ้าอ้อม แผ่นรองซับและแผ่นเสริมซึมซับการขับถ่าย จะใช้กลไกกองทุนสุขภาพตำบล หรือกองทุนฟื้นฟูระดับจังหวัดเข้าไปเสริม ทั้งนี้หากท่านใดมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงให้ติดต่อหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะมีกลไกการไปดูแลอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงการลงไปดูแลสภาพบ้านเรือนว่ามีความพร้อมในการดูแลด้วย ส่วนของฟันเทียมและรากฟันเทียมนั้น จะเพิ่มเติมบริการรากฟันเทียมอีก 3,500 รายจากเป้าหมาย 36,000 ราย นอกจากนี้ กองทุนบัตรทองจะสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทั้งวัคซีน การคัดกรองโรค ซึ่งจะเพิ่มการคัดกรองไขมันในเส้นเลือด คัดกรองภาวะซึมเศร้า มะเร็งลำไส้ หรือส่วนอื่นๆ เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image