เครือข่ายลดอุบัติเหตุชวนสร้างความปลอดภัยทางถนน ปีใหม่ดื่มไม่ขับ

เครือข่ายลดอุบัติเหตุชวนสร้างความปลอดภัยทางถนน ปีใหม่ดื่มไม่ขับ

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า เทศกาลปีใหม่ 2566 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อปริมาณรถมากขึ้นส่งผลให้การจราจรติดขัดขึ้น เพราะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน การจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และการจัดงานรื่นเริงต่างๆ ทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ภายใต้การรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สคอ.และภาคีเครือข่ายก็ได้ร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ ร่วมเน้นย้ำเรื่อง “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆก็ถึงตาย” สร้างความตระหนัก ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล บอกกับสังคมรวมถึงผู้ปกครองที่ยังเข้าใจผิดอยู่ คิดว่าการดื่มเพียงเล็กน้อยไม่เป็นไร ซึ่งความจริงแล้วมีอันตรายสูง มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตได้

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานช่วงการรณรงค์ 7 วัน โดยเก็บสถิติอุบัติเหตุปีใหม่ 2565 พบว่าตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 – วันที่ 4 มกราคม 2565 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 333 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,672 คน สาเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.12 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 29.51 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 17.84 ซึ่งการดื่มแอลกฮอล์แล้วขับรถ นับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.80 รถปิกอัพ/กระบะ ร้อยละ 6.20 และรถเก๋ง ร้อยละ 3.55 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ 96 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 22 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี จังหวัดละ 93 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วัน ของการรณรงค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย และแพร่

ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า เมื่อต้องเดินทางไกล รถ คนและถนนต้องพร้อม รถควรตรวจสภาพให้พร้อมใช้งาน เตรียมร่างกายให้พร้อมและพักผ่อนเพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ เพราะเสี่ยงอันตรายสูงและขณะนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ พ.ร.บ. จราจรทางบก ฉบับที่ 13 กรณีเมาแล้วขับ คือ เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท หากทำผิดซ้ำข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ และถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

“ก็หวังว่าปีนี้ทุกคนจะตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางถนน มีการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางไกลกลับบ้าน ต้องเพิ่มความระวังเรื่องวูบหลับใน เหนื่อยล้า ขับเร็ว ยิ่งเจอรถใหญ่ จะยิ่งอันตรายมากกว่าการใช้รถยนต์ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางให้มากขึ้น” นายพรหมมินทร์ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image