กก.วิชาการ แนะ ยังไม่จำเป็นต้องตรวจโควิด-19 นทท.จีน ก่อนเข้าไทย ย้ำ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ

กก.วิชาการแนะ ยังไม่จำเป็นต้องตรวจโควิด-19 นทท.จีน ก่อนเข้าไทย ย้ำ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ เตรียมเสนอต่อผู้บริหาร สธ.พิจารณา ก่อนเข้าประชุม 5 ม.ค.2566

ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรค รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางการรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่คาดว่าจะเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงต้นปี 2566 ราว 6 หมื่นราย ซึ่งจะให้ผู้เดินทางแสดงประวัติการรับวัคซีนโควิด-19, มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด และมีผลการตรวจเอทีเค (ATK) เป็นลบ 48 ชั่วโมงก่อนถึงไทย ซึ่งจะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมกระทรวงที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 ม.ค.2566

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้จัดประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. มีวาระสำคัญคือการเตรียมรับสถานการณ์ผู้เดินทางจากประเทศจีนที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน ในปี 2566 รวมทั้งจะมีผู้เดินทางจากประเทศไทยไปประเทศจีนมากขึ้นด้วย จึงต้องมีการพิจารณามาตรการและเตรียมแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์

“ซึ่งผลของการประชุมในวันนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ที่ได้รับข้อมูลและข้อคิดเห็นที่มีคุณค่าจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่พิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงทุกมิติและจะได้นำเสนอต่อผู้บริหารในระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมรับผู้เดินทางจากประเทศจีนในวันที่ 5 มกราคม 2566 นี้ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการของประเทศร่วมกันต่อไป” นพ.ธเรศกล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการฯ ได้ให้หลักการในการพิจารณามาตรการ ควรคำนึงถึงหลักการเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านวิชาการ ความปลอดภัยสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าออกของประเทศต่างๆ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและประเมินความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลสถานการณ์โรค ข้อมูลการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการของประเทศต่างๆ มีความเห็นร่วมกันว่า ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

Advertisement

โดยสรุปแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ดังนี้ 1.กำหนดมาตรการป้องกันโรคโควิด เพื่อรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ได้แก่ การตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด และกำหนดให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้ พิจารณามาตรการดังกล่าวอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศจีนในการรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ที่กำหนดให้มีการตรวจ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง 48 ชั่วโมง 2.สื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการของไทยและคำแนะนำต่างๆ ให้กับผู้เดินทางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย โดยผ่านกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ประกอบการสายการบิน ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ

3.เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการป้องกันควบคุมโรคโควิดของประเทศไทย โดยเฉพาะระบบเฝ้าระวังในผู้เดินทางเข้าประเทศที่ช่องทางเข้าออกประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ ปัจจุบันสายพันธุ์ที่พบในจีนไม่แตกต่างจากที่เคยมีรายงาน และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อนำไปพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม 4.เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว 5.สื่อสารเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดบริการสายด่วนสำหรับนักท่องเที่ยว

6.ด้านผู้ประกอบการและร้านค้า ดำเนินการตามแนวทาง SHA, SHA Plus 7.ภาคสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม สื่อสารไปยังผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวให้ได้รับวัคซีนโควิดครบ 4 เข็ม โดยทางภาคสาธารณสุขจะมีการเตรียมวัคซีนให้กับแรงงาน  ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการคมนาคม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดรวม 4 เข็ม เพื่อลดการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต

Advertisement

“ที่ประชุมได้พิจารณาเตรียมการจัดทำแผนรองรับในระยะต่างๆ ให้มีการติดตามประเมินมาตรการที่กำหนดเป็นระยะ ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์รอบด้าน ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตรวจหาเชื้อโควิดในผู้เดินทางจากประเทศจีน สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ European CDC แต่หากมีข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์หรือสถานการณ์ระบาดที่เปลี่ยนแปลง จะพิจารณาความจำเป็นของการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้ง” ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image