สธ.ร่วมสถาบันพระบรมราชชนก ปั้นแพทย์ เริ่มปีการศึกษาแรก 2566 จำนวน 96 คน นำเข้าระบบสอบ ทีแคส รอบ 2

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถาบันพระบรมราชชนก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือผลิตแพทย์สู่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ พัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมีศูนย์แพทยศาสตรชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลราชบุรี และโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เป็นหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอน

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตแพทย์สู่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ สถาบันพระบรมราชชนก โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เป็นผู้ลงนาม

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก และสภาสถาบันพระบรมราชชนก อนุมัติให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เป็นส่วนราชการของสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ จึงมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและผลิตบัณฑิตแพทย์ โดยสถาบันพระบรมราชชนก จะร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก 3 แห่ง คือ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช, ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชบุรี และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ พัฒนาและจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างความรู้ชั้นปรีคลินิกกับชั้นคลินิก รวมถึงร่วมมือกันพัฒนาอาจารย์ นักศึกษาแพทย์ การวิจัย การบริการทางวิชาการ การประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลหลักสูตร ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 – 2576

“โดยปีนี้เป็นแรกของการรับผลผลิตนักศึกษาแพทย์ จำนวน 96 คน ซึ่งจะนำเข้าระบบการสอบ TCAS  รอบ 2 ในปี 2566 นี้ ซึ่งนักเรียนชั้น ม.6 สามารถยื่นคะแนนสอบ ใน ช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. สำหรับการยื่นคะแนน เน้นในนักเรียนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3, 5 และ 11 สำหรับการเรียนสอนในชั้นปีที่ 1 ถึง 3 จะให้เรียนกับทางมหาวิทยาลัยก่อน จากนั้น เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4-6 จะเรียนตามศูนย์การเรียนของสถาบัน 3 แห่ง ได้แก่ ที่ นครศรีธรรมราช , นครสวรรค์ (รพ.สวรรค์ประชารักษ์) , ราชบุรี  ทั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมีการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ เป็นของตัวเอง โดยความเชื่อมั่นทางการแพทย์ของไทย เป็นที่ยอมรับ ในระดับนานาชาติ อย่างที่ซาอุดิอาระเบียมีความต้องการแพทย์ และพยาบาลของไทย” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image