‘วิศณุ’ ชี้ ขนาดฟรียังขึ้นแค่วันละ 400 คน ยังไม่ได้ยกเลิก ‘เรือคลองผดุงฯ’ มี 3 ทางเลือก ขอทบทวนวิ่งเรือคลองแสนแสบ – BRT

‘วิศณุ’ ชี้ ขนาดฟรียังมีคนขึ้นวันละแค่ 400 คน ยันไม่ได้ยกเลิก ‘เรือคลองผดุงฯ’ มี 3 ทางเลือก ให้เอกชนประมูลเดินต่อ-เปลี่ยนเป็นท่องเที่ยวแทน ส่วนเรือคลองแสนแสบ – BRT ขอทบทวนอีกที

เมื่อเวลา 09.11 น. วันที่ 4 มกราคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวเรื่องการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร และการนำสายสื่อสารลงดินและจัดระเบียบสายสื่อสาร

อ่านข่าว : ชัชชาติลั่น คงไม่ทำต่อ ‘เรือคลองผดุงฯ’ คนใช้น้อย ต้องจ่ายเดือนละ 2.4 ล้าน – ‘ชัตเติลบัส’ เวิร์กกว่า

นายวิศณุกล่าวว่าเรื่องแรก การเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม ความจริงแล้วเป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2563 ในสัญญาแรกจบเมื่อกันยายนปี 2565 ที่ผ่านมา ใช้วงเงินงบประมาณ 106 ล้านบาท และมีการเดินเรือไฟฟ้าทั้งหมด 8 ลำ บนท่าเรือ 11 ท่า ซึ่งประเด็นคือ กทม.หยุดบริการไปเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน เนื่องจากมีการพร่องน้ำในคลองผดุงฯ เพื่อรองรับเรื่องที่ฝนตกลงมาและรองรับการระบายน้ำ ซึ่งการรับระดับน้ำในคลองผดุงฯ ส่งผลให้ไม่สามารถเดินเรือได้ จึงหยุดให้บริการเมื่อเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

“ทำไมเรายังไม่ดำเนินการเดินเรือต่ออีก อยากให้เห็นข้อมูลตรงนี้ว่า จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่เปิดมากลางปี 2563 ก็ไม่เกิน 5,000 คน ในปลายปี 2562 จะมีผู้ใช้บริการสูงหน่อย เพราะช่วงมีการจัดร้านค้าในคลองผดุงฯ ทำให้มียอดผู้โดยสารสูงขึ้นมาหน่อย แตะถึง 20,000 คนต่อเดือน แต่จากนั้นช่วงโควิดก็กลับลดลงมา หลังโควิดคลี่คลายลงแล้วในปี 2565 ที่ผ่านมา ผู้โดยสารค่อนข้างที่จะคงที่ อยู่ที่ประมาณ 400-500 คน คิดเป็นเดือนละประมาณ 14,000 คน” นายวิศณุกล่าว

Advertisement

นายวิศณุกล่าวต่อว่า เมื่อเทียบ 14,000 คน กับค่าจ้าง 1 เดือน เดือนละ 2.4 ล้านบาท เมื่อหารดูแล้วก็ตก 171 บาทต่อคน ฉะนั้นจึงเป็นประเด็นที่ทำให้มาคิดต่อว่า ถ้าเราจะจ้างรูปแบบเดิมต่อไป เสียค่าจ้างเดือนละ 2.4 ล้านบาท ไม่รวมค่าซ่อมบำรุงเรือโดยสาร คุ้มหรือไม่ หรือว่าเรามีทางเลือกอื่นหรือไม่ เช่น ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการที่สอดคล้องกับอุปสงค์เรื่องการใช้จริงๆ จึงให้มีการทบทวนที่จะจ้างแบบเดิมต่อ

“ความจริงเรามีการเตรียมงบประมาณปี 2566 ไว้แล้ว คือตั้งงบแบบเดิม แต่การจ้าง 5 ปี วงเงิน 140 ล้านบาท ซึ่งมาจากค่าจ้างเดือนละ 2.4 ล้านบาท ไปเรื่อยๆ รวมกับค่าบำรุงรักษาอีกเล็กน้อย ฉะนั้น ในแผนคือจะมีการประกวดราคาเพื่อหาผู้รับจ้างเดินเรือ ประมาณเดือนเมษายนนี้

Advertisement

“แต่ถามว่าช่วงเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน ทำอะไร ก็คือการทบทวนดูว่า รูปแบบการให้บริการพี่น้องประชาชนในเส้นทางนี้ ควรจะทำแบบไหน เช่น อาจจะมีฟีดเดอร์เข้ามาไหม ใช้รถบัสพลังงานไฟฟ้าได้ไหม เพราะเราดูในลักษณะประเภทผู้โดยสาร ลักษณะการใช้คือช่วงเช้า 180 คน ช่วงเย็นอีก 220 คน โดยประมาณ จะมีช่วงพีค 06.30-08.00 น. ช่วงเข้าทำงานและเลิกงาน เพราะฉะนั้น พฤติกรรมแบบนี้ใช้รถบัสก็อาจได้ราคาที่ถูกกว่า แต่เรายังไม่ปิดช่อง ซึ่งต้องดูรูปแบบการเดินเรือ ไปให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นแท็กซี่เรียกตามอุปสงค์ (Demand) แทนที่จะวิ่งเรือเปล่าไปเรื่อยๆ ก็สูญเสียพลังงานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทั้งหมดนี้เราไม่ได้ยุติโครงการ เพียงแต่ว่ากลับมาทบทวนรูปแบบการให้บริการที่คุ้มค่าและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุกล่าวอีกว่า วันนี้เราเดินคู่ขนาน 3 ทาง ทางเลือกที่ 1 คือ ฟีดเดอร์รูปแบบอื่น ว่าเทียบแล้วเป็นอย่างไรต้องดูความเป็นไปได้ ดูว่าเส้นทางเป็นอย่างไร ดูพฤติกรรม ทางเลือกที่ 2 คือการเปิดให้เอกชนที่สนใจมาเดินเรือในคลองผดุงฯ ซึ่งถ้าเราเปิดสนใจหรือไม่ที่จะนำไปเป็นเรือท่องเที่ยว เนื่องจากเราส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวด้วย ถ้ามีคนสนใจเราก็เอื้อให้ทางเอกชนทำ ทางเลือกที่ 3 คือกลับเป็นรูปแบบเดิม ถ้าไม่มีใครสนใจ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้าไปดำเนินการอยู่ เราก็อาจดำเนินการต่อ แต่เดินเรือรูปแบบใด เดินเรือความถี่ขนาดไหน จะรูปแบบขนาดไหน จำนวนเรือพวกนี้จะดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า หมายความว่าหลังจากนี้จนถึงเมษายน จะไม่มีการเดินเรือใช่หรือไม่ ?

นายวิศณุระบุว่า คิดอยู่ว่าจะจัดเรือที่ไหนได้ อาจจะจ้างชั่วคราว พอดีเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของเราด้วย ตอนนี้กำลังให้ศึกษาอยู่ว่างบประมาณที่เราเตรียมไว้ 140 ล้านบาท 5 ปี สามารถแบ่งส่วนหนึ่งมาจ้างชั่วคราวได้หรือไม่ เพื่อช่วยคนเดินทางเส้นนี้เป็นประจำ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนเรื่องการเปิดประมูลเดินเรือ ว่าจะเปิดอีกครั้งเมื่อไหร่ ?

นายวิศณุกล่าวว่า ตนว่าไม่เกินภายในเดือนมกราคมนี้ ต้องชัดเจนแล้ว เพราะถ้าจะมีการประกวดราคากับผู้ประกอบการเดือนเมษายน กระบวนการวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน อีกปัจจัยหนึ่ง คือเรือใช้มา 3 ปีแล้ว แบตเตอรี่ก็ค่อนข้างเสื่อม จึงต้องมีการเปลี่ยนแบต มีการปรับปรุงคุณภาพของเรือด้วย ไม่เช่นนั้นเรือวิ่งไม่นานก็ต้องชาร์จ เพราะแบตค่อนข้างเสื่อม

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า มีแผนการเก็บค่าโดยสารหรือไม่ หรือเป็นการให้บริการฟรี ?

นายวิศณุกล่าวว่า เป็นการให้บริการฟรีอยู่ สาเหตุที่ให้บริการฟรีเพราะว่าระบบการจัดเก็บค่าโดยสารยังไม่คุ้มทุน คือเราอาจจะไปเสียกับระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร มากกว่าค่าโดยสารที่ได้ หรืออาจจะไม่ค่อยคุ้ม แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะหารูปแบบการจัดเก็บที่เหมาะสม

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามต่อว่า ถ้าจะมีการจัดเก็บค่าโดยสาร โดยผู้โดยสารยินดีที่จะเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ เป็นไปได้ไหมว่าเรืออาจจะกลับมาเดินได้เหมือนเดิม ?

นายวิศณุกล่าวว่า วันนี้เรามาดูตัวเลข ตอนนี้เราให้ขึ้นฟรี เสียค่าจ้าง 2.4 ล้านบาท

“ขนาดให้ขึ้นฟรียังมีคนใช้แค่ 400 คนต่อวัน นำ 2.4 ล้าน หาร 30 ว่าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละ 8 หมื่นบาท วันนี้คนโดยสาร 400 คน เก็บคนละ 10 บาท ได้ 4,000 บาท อย่างไรก็ไม่มีทางคุ้ม ต้องจัดหารูปแบบการให้บริการที่พอเป็นไปได้ อย่างไร กทม.ก็คงสนับสนุนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสนับสนุนอย่างไรให้คุ้มค่าเงินที่ลงไป” นายวิศณุกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ในโซเชียลมีการแชร์เรื่องคลองแสนแสบ ที่เริ่มมีคนใช้น้อย รวมถึงรถโดยสาร BRT ด้วยเช่นกัน 2 อย่างนี้จะมีการหาแนวทางอื่น ในการปรับปรุงหรือช่วยดูให้คนใช้มากขึ้นหรือไม่ ?

นายวิศณุกล่าวว่า เรือคลองแสนแสบ ยังอยู่ในสัญญาจ้าง เข้าใจว่าจบเดือนกันยายนปี 2568 ยังมีเวลากว่า 60 กว่าเดือน ซึ่งต้องทบทวนอีกครั้ง

“คำว่าทบทวนไม่ใช่ยกเลิก คือทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ของผู้ใช้บริการ เรือที่คลองแสนแสบในช่วงท้าย ตอนนี้เรามีอยู่ 12 ลำ ก็พยายามใช้ประโยชน์ และจัดการให้ดีขึ้น

ส่วน BRT น่าจะหมดสัญญาในปีนี้ เดือนสิงหาคม ก็ต้องทบทวนรูปแบบ เพราะตอนนี้ กทม.เราไม่ได้ลงเงิน เราแลกสิทธิกับสัมปทานค่าโฆษณาโดยการให้เคที (กรุงเทพธนาคม) เอาไป แต่วันนี้ได้รับฟีดแบ๊กมากับผู้ดำเนินการ ว่าเขาขาดทุนเยอะ อาจไม่ได้เดินต่อ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็หารูปแบบที่ลดค่าใช้จ่ายลงได้ บริการรูปแบบอื่นที่ทำให้โครงการเดินได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์รูปแบบการให้บริการ ดูความคุ้มค่า ดูเส้นทางด้วย สุดท้ายนี้ จะดำเนินการให้ต่อเนื่องก็ต้องเตรียมการล่วงหน้า” นายวิศณุกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image