รพ.เพชรบูรณ์ ปลูกถ่ายกระจกตาสำเร็จ ช่วยผู้ป่วยกลับมามองเห็น – ใช้ชีวิตปกติ

รพ.เพชรบูรณ์ ปลูกถ่ายกระจกตาสำเร็จ ช่วยผู้ป่วยกลับมามองเห็น – ใช้ชีวิตปกติ

วันนี้ (8 มกราคม 2566) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 2 ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และมีนโยบายให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะพร้อมพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะ และจัดตั้งศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตและดวงตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 โรงพยาบาล (รพ.) เพชรบูรณ์ ได้เริ่มก่อตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะตั้งแต่ปี 2559 และมีการจัดเก็บดวงตาและรับบริจาคอวัยวะรายแรกได้สำเร็จ แต่เนื่องจากยังมีผู้ปฏิบัติงานด้านนี้จำนวนไม่มากนัก จึงได้ส่งจักษุแพทย์เข้าศึกษาต่อหลักสูตรเฉพาะทางการปลูกถ่ายผ่าตัดกระจกตา จำนวน 1 คน และส่งแพทย์เข้าร่วมอบรมการจัดเก็บไต จำนวน 3 คน

นอกจากนี้ นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า ยังได้ส่งทีมพยาบาลเข้ารับการอบรมหลักสูตรเฉพาะทางเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายอวัยวะ จำนวน 2 รุ่น และเข้าอบรมหลักสูตรการจัดเก็บดวงตา 3 รุ่น จำนวน 3 คน ล่าสุด สามารถปลูกถ่ายกระจกตาให้กับผู้ป่วยจำนวน 3 ราย ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 โดยได้รับความร่วมมือจากจักษุแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์

“การรับบริจาคอวัยวะนอกจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย ของกระทรวงสาธารณสุข ยังถือว่าได้ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายได้สร้างกุศลครั้งสุดท้าย ในการให้ชีวิตใหม่กับผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมสืบต่อไป ซึ่งปัจจุบัน รพ.เพชรบูรณ์ มีการเจรจาทำความเข้าใจกับญาติเพื่อการตัดสินใจบริจาคอวัยวะและดวงตาในผู้ป่วยสมองตายอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งทีม TC Nurse ประจำหอผู้ป่วย ทำหน้าที่ค้นหาผู้ป่วยสมองตายที่เข้าเกณฑ์การบริจาคอวัยวะและดวงตา พร้อมให้คำปรึกษาแก่ญาติที่แสดงความจำนงบริจาค ซึ่งผู้ป่วย 1 ราย สามารถบริจาคอวัยวะได้หลายรายการ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด (ซ้าย-ขวา)
ลิ้นหัวใจ ตับอ่อน ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น และกระจกตา” นพ.ภาณุมาศ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในปี 2561 สามารถเจรจาและจัดเก็บดวงตาจากผู้เสียชีวิต จำนวน 14 ราย ต่อ 28 ดวงตา ปี 2562 จำนวน 16 ราย ต่อ 32 ดวงตา และปี 2564 จำนวน 24 ราย ต่อ 45 ดวงตา ได้รับรางวัลผู้มีผลงานการเจรจาฯ เป็นอันดับ 1 ของประเทศ จากศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย

ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า ภาพรวมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 – 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2565) มีการเจรจา 417 ราย ยินยอมบริจาค 163 ราย สามารถจัดเก็บอวัยวะได้ 102 ราย เป็นดวงตา 100 ราย ต่อ 194 ดวงตา ไต 40 ราย ต่อ 79 ข้าง ตับ 3 ราย หัวใจ 1 ราย ลิ้นหัวใจ 9 ราย ในระยะต่อไปมีแผนจะดำเนินการปลูกถ่ายกระจกตาให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาใกล้บ้าน และยังวางแผนจัดเก็บไตที่ได้รับบริจาคส่งมอบให้กับสภากาชาดไทย เพื่อนำไปจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่รอคิวรับการปลูกถ่ายต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image