กรมแผนไทยฯ แนะวิธีปรุงอาหารลดอาการ “ท้องเฟ้อ” ในเด็ก พร้อมบรรเทาหวัด คัดจมูก

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ห่วงใยสุขภาพเด็กไทย เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 เผยอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โรคยอดฮิตที่เด็กส่วนใหญ่เจ็บป่วย เผยวิธีรับมือ ชู 4 สมุนไพร พร้อมแนะนำ 3 เมนูอาหารสุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 มกราคม นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ภูมิปัญญาไทยในการดูแลเด็กมีสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และบางส่วนมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตแต่ละท้องถิ่น ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามวิถีชุมชน วัฒนธรรม แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้กันหลากหลายคือการนำพืชผัก สมุนไพรมาใช้ในการดูแลสุขภาพเด็ก และพัฒนาการมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาในการดูแลเด็กตามหลักธาตุเจ้าเรือน วัยเด็กนั้นเกี่ยวข้องกับธาตุน้ำซึ่งแสดงออกถึงอาการเด่นชัดคืออาการเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งอาการที่มักเกิดขึ้นได้ คืออาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง จากการรับประทานอาหารปริมาณมากและเร็วเกินไป การบดเคี้ยวอาหารที่ไม่ละเอียด หรือรับประทานที่ย่อยยาก

นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า ทางการแพทย์แผนไทยสำหรับวัยเด็กมียาบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ที่นิยมใช้คือยาทามหาหิงคุ์ สำหรับใช้ทาที่ท้องบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วันละ 2 – 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ ข้อควรระวัง เป็นยาใช้ภายนอก เมื่อนำไปใช้กับเด็กทารกบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือเป็นผื่นได้ นอกจากนี้ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรได้แก่ ยาประสะกะเพรา บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ใช้ตั้งแต่อายุ 1 เดือนขึ้นไป ยามันทธาตุ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป ยาธาตุบรรจบ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิในคลินิกการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลของรัฐ หรือหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

“การป้องกันไม่ให้เด็กท้องอืดท้องเฟ้อ ต้องดูแลตั้งแต่การเคี้ยวอาหาร ไม่เร่งรีบจนเกินไป หรือการเลือกเมนูอาหารที่เหมาะสมกับวัย และภูมิอากาศ แต่หากเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เมนูที่สามารถช่วยบรรเทาอาการ ต้องเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบจากสมุนไพรรสร้อน หรือมีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ หัวหอม พริกไทย กระเทียม เป็นต้น แต่เมนูอาหารจะต้องไม่มีรสชาติที่เผ็ดซึ่งเด็กสามารถรับประทานได้ เช่น ปลานึ่งบ๊วย แกงจืดใบกะเพรา และ ข้าวต้มปลาทรงเครื่อง เป็นต้น อาจเสริมด้วยสามเกลอ คือ กระเทียม พริกไทย รากผักชี บดรวมกันให้ละเอียดผสมเข้าไปในเมนูต่าง ๆ ต้มจืดหมูสับ ข้าวต้ม รสร้อนและน้ำมันหอมระเหยจากเครื่องเทศนี้ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืดในเด็กได้เช่นกัน” นพ.ขวัญชัย กล่าว

นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติมีจุดประสงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็ก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กตะหนักถึงบทบาทสำคัญของตนต่อประเทศ และปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อเตรียมพร้อมกับการเจริญเติบโตขึ้นเป็นกำลังของชาติในอนาคต ทางการแพทย์แผนไทยฯ จึงมีวิธีดูแลสุขภาพของเด็กเพื่อให้มีสุขภาพที่เติบโตแข็งแรงตามวัย ในช่วงวัยเด็กจึงต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โภชนาการ และ สมวัย เพื่อให้เด็กเติบโตได้อย่างดี มีทักษะ สุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี พร้อมเติบโตสู่ช่วงวัยต่อ ๆ ไป โดยสามารถนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมาดูแลสุขภาพได้ทุก  ช่วงวัย หากท่านใดสนใจเกี่ยวกับข้อมูลการดูแลสุขภาพ หรือข้อมูลสมุนไพร สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร 0 2149 5678

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image