จริงหรือไม่? เป็นเบาหวาน บริจาคโลหิตไม่ได้ และใครไม่ควรให้เลือด

จริงหรือไม่? เป็นเบาหวาน บริจาคโลหิตไม่ได้ และข้อเท็จจริง ผู้ไม่ควรให้เลือด

การบริจาคโลหิต นอกจากจะสามารถช่วยเหลือ ต่อชีวิตผู้ป่วยหลายๆคนแล้ว ยังมีประโยชน์ไม่น้อย โดยผู้บริจาค 1 คน จะให้เลือดเพียงครั้งละ 350-450 ซีซี หรือ 10-12% ของปริมาณโลหิตทั้งหมดของร่างกาย ซึ่งหลังบริจาคไขกระดูกในร่างกาย จะสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนต่อเนื่อง เม็ดเลือดแดงใหม่ที่สร้างมา ก็จะไหลเวียนในร่างกายยาวนาน 120 วัน

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็มีความเชื่อผิดๆ อย่าง การเป็นเบาหวาน บริจาคเลือดไม่ได้ เพราะจะทำให้ผู้ที่ได้รับเลือดที่บริจาคไปเป็นโรคเบาหวาน เรื่องนี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องจริง โรคเบาหวานไม่ติดต่อกันทางเลือด

โดยหากเป็นโรคเบาหวาน แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยส่วนใหญ่คุณหมอก็จะแนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลสะสมให้น้อยกว่าร้อยละ 7 หรือเจาะน้ำตาลตอนเช้าก่อนที่จะรับประทานอาหารเช้าไม่เกิน 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็สามารถที่จะบริจาคเลือดได้ แต่สำหรับผู้ที่น้ำตาลในเลือดสูงมาก ยังควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ก็ยังไม่แนะนำให้บริจาคเลือด

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับคุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิตนั้น ต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปี สุขภาพพร้อมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ก่อนบริจาคเลือด ผู้บริจาคโลหิตที่รับประทานอาหารมันจัด เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ก่อนมาบริจาคโลหิตไม่ถึง 3 ชั่วโมง จะมีผลทำให้พลาสมาขาวขุ่น ไม่สามารถจ่ายให้แก่โรงพยาบาลเพื่อไปให้แก่ผู้ป่วยได้ ต้องทิ้ง และพลาสมา ที่ขาวขุ่นอาจรบกวนการบริจาคเกล็ดเลือดด้วยเครื่องอัตโนมัติ (platelet apheresis) เนื่องจากเครื่องไม่สามารถ นับระดับเกล็ดเลือดที่เก็บได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์ ควรเก็บโลหิตไว้ให้เพียงพอต่อทารก และเป็นโลหิตสำรองในร่างกาย ที่อาจเสียเลือดมากขณะคลอดลูก ขณะที่ผู้หญิงที่ให้นมบุตร ต้องการสารอาหารจำนวนมาก เพื่อใช้ผลิตน้ำนม และอาจตื่นเพื่อให้นมบุตรจะทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ

ส่วนผู้ที่เพิ่ง ท้องเสีย ท้องร่วง ก็ควรงดบริจาคโลหิต 7 วัน เช่นเดียวกับผู้ที่เพิ่งถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน และการรักษาอื่นๆ ในช่องปาก ควรเว้นอย่างน้อย 3 วัน เพราะกิจกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดบาดแผล หรือการอักเสบภายใน 3 วัน อาจมีภาวะติดเชื้อโรคในกระแสโลหิตชั่วคราวโดยไม่มีอาการ (transient bacteremia) ซึ่งเชื้อโรคในกระแสเลือด อาจติดต่อไปสู่ผู้ป่วยได้ หากมีการผ่าตัดเล็ก เช่น ผ่าฟันคุด ให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน จนกว่าแผลหายสนิทไม่มีอาการอักเสบ

Advertisement

ขณะที่ ผู้ที่เจาะหูและสักนั้น ควรทำโดยเครื่องมือทางการแพทย์ที่สะอาด ปราศจากเชื้อ โดยผู้ชำนาญและเป็นเข็มหรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวเฉพาะตัว ก็ปลอดภัยจากการติดเชื้อ แต่ก็ควรเว้นระยะเวลาให้แผลอักเสบจากการเจาะหู หายสนิท อย่างน้อย 7 วัน

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image