รมว.สุชาติ สั่งปูพรมเมืองท่องเที่ยวตรวจสอบต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย ก่อนขยายผลทั่ว ปท.
วันนี้ (20 มกราคม 2566) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารคนไทย ร้องเรียนให้ตรวจสอบคนต่างชาติที่สงสัยว่าเข้ามาประกอบธุรกิจแบบไม่ถูกกฎหมาย ใช้นอมินีคนไทยจดทะเบียนตั้งบริษัทแย่งอาชีพคนไทย และจ้างลูกจ้างชาวต่างชาติเป็นพนักงาน นั้น ตนรับทราบเรื่องแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการกรมการจัดหางาน (กกจ.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุย พัทยา ฯลฯ ที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนไทย ซึ่งหากตรวจสอบพบมีความผิดจะดำเนินคดีตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีข้อยกเว้น
“ขอเตือนว่า กระทรวงแรงงานเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกรณีคนต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีการตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการแล้ว จำนวน 9,883 แห่ง ดำเนินคดี 355 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 153,882 คน ดำเนินคดี 795 คน ในจำนวนนี้เป็นคนต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย จำนวน 386 คน” นายสุชาติ กล่าว
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า กกจ.รับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยมีแนวทางจะบูรณาการร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล ตำรวจในพื้นที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของ กกจ.จะดำเนินคดีคนต่างชาติที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างชาติทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างชาติที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างชาติที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างคนต่างชาติทำงานเป็นเวลา 3 ปี
“ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กกจ. อาคารกระทรวงแรงงานชั้น 4 โทร.0 2354 1729 หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือสายด่วน 1694” นายไพโรจน์ กล่าว