นายกสมาคมนักวิจัยฯ ท้วงแพทย์โพสต์เฟซบุ๊กอย่าใช้อคติตัดสินกัญชามากกว่าให้ความรู้สังคม

นายกสมาคมนักวิจัยฯ ท้วงแพทย์โพสต์เฟซบุ๊กอย่าใช้อคติตัดสินกัญชามากกว่าให้ความรู้สังคม

จากกรณีนายแพทย์คนหนึ่งโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กอ้างอิงรูปตู้อัตโนมัติที่ขายกาแฟผสมกัญชาในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง พร้อมแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขายกันแบบนี้ เราจะกันไม่ให้วัยรุ่น หรือเด็กกดซื้อได้อย่างไร ถึงมีแปะไว้ว่าไม่ขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี จะตรวจสอบอย่างไร นอกจากนี้ ตู้ยังแปะว่า อย.อนุญาตด้วย อาจไม่ผิดกฎหมาย การขายแบบนี้เป็นเพื่อการแพทย์แบบที่โปรโมตกันตรงไหน นั้น

วันนี้ (20 มกราคม) นายพิพัฒน์ นนทนาภรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมนักวิจัยฯ มีความห่วงใยในการใช้อคติบิดเบี้ยวความเป็นจริงของกัญชาสร้างความสับสนในสังคมอาจนำการทำผิดกฎหมายมาโจมตี แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้โดยเฉพาะผู้เคมีมาแล้วน่าจะรู้ดีว่าสารกลุ่มแคนาบินอยด์ เช่น THC, CBD ละลายน้ำได้น้อยมาก อาจเรียกว่าไม่ละลายเลยก็ได้ ประกอบกับใบกัญชามีสารเหล่านี้น้อย ดังนั้น น้ำต้มใบกัญชา หรือการต้มหรือชงใบกัญชาด้วยน้ำจึงแทบจะตรวจไม่พบสารกลุ่มนี้เลย

“ถ้าละลายน้ำได้ง่ายๆ เราก็คงใช้การต้มสกัดเอาตัวยาออกมาได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งภาคอุตสาหกรรม ในการไปหาเครื่องมือแพงๆ มาทำการสกัดสารกลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่าการที่นำใบกัญชามาชงน้ำไม่ได้ทำให้เมาจากการที่สารเมาไม่ละลายน้ำ ในส่วนของการทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดว่า ในเครื่องดื่มต้องมีสาร THC น้อยกว่า 0.015 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร และมีที่มาของการกำหนดมาตรฐานเหล่านี้ มาตรฐาน อย.ไทย เป็นที่ยอมรับทั่วโลก หากมีผลิตภัณฑ์ใดผิดกฎหมาย ก็ร้องเรียนกันไป” นายพิพัฒน์กล่าว และว่า ส่วนการนำมาจำหน่าย ขึ้นกับว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม สังคมต้องการกฎหมายที่ควบคุมกัญชาทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการปลูก แปรรูป การขาย การคุ้มครองเด็กและเยาวชน การคุ้มครองผู้บริโภค บทลงโทษต่อผู้ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด การควบคุมกัญชาจำเป็นต้องควบคุมทั้งระบบ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

Advertisement

นายพิพัฒน์กล่าวว่า สมาคมนักวิจัยฯมีการเก็บข้อมูลการวิจัยในเชิงพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน พบว่ามีการใช้กัญชาใส่ในอาหารของคนไทยมีมาอย่างช้านาน และใช้อย่างชาญฉลาด

“สังคมไทยมีการใช้กัญชาปรุงอาหาร เช่น การใช้ใบใส่ในน้ำซุปเพื่อปรุงรส ไม่ได้ทำให้เมา เพราะสารเมาไม่ละลายน้ำหรือละลายก็น้อยมาก สามารถกินใบสดเป็นผัก หรือใช้แทนใบกะเพราได้ สมาคมนักวิจัยฯ ยินดีเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้เรื่องนี้แก่ประชาชน เชื่อมั่นว่าประชาชนเรียนรู้ได้ เนื่องจากมีข้อมูลทางภูมิปัญญาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเหมาะสมด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการกล่าวอ้างสรรพคุณที่เกินจริง” นายพิพัฒน์กล่าว และว่า มีความห่วงใยปัญหาสภาผู้แทนราษฎรล่มซ้ำซาก โดยขอร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าประชุมสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ให้แล้วเสร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image