‘จักกพันธุ์’ เล่าวินาทีหวิดแม่ค้าฟาด พนง.กวาดพาหนี หลัง ‘ไม่ยอมย้ายจุดขาย’ ยัน กทม.ไม่รุนแรงกับ ปชช.

‘จักกพันธุ์’ เล่าวินาทีหวิดแม่ค้าตบ หลังยึดแผงค้า พนักกวาดช่วยจูงมือพาหลบข้ามถนน ยืนยัน กทม.ไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 มกราคม ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ และ น.ส.อัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการปฏิบัติหน้าที่จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย บริเวณถนนสีลม ซึ่งปรากฏคลิปวิดีโอการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ กทม.กับผู้ค้า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. ได้ให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่ที่ไม่ใช่ทางสาธารณะ เพื่อให้ผู้ค้าแผงลอยได้มีพื้นที่ค้าขายถาวร โดยสำรวจได้ 125 แห่ง ผู้ค้าจำนวน 10,000 ราย กทม.พยายามจะให้ผู้ค้าได้ค้าขายได้ แต่ต้องเป็นระเบียบ และต้องไม่รบกวนกับผู้สัญจรทางเท้า ซึ่งได้มีการพูดคุยกับผู้ค้าและหลายคนมีความเข้าใจที่ต้องมีการจัดระเบียบ

โดยหลายจุดการค้าที่มีการแก้ไขได้ เช่น บริเวณซอยสังคโลก เขตดุสิต สำนักงานเขตดุสิตได้จัดพื้นที่ค้าขายในที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางเดินเท้า นอกจากนี้ กทม.ยังให้เวลาในการโยกย้ายพื้นที่ค้าใหม่ สำหรับพื้นที่การค้าถนนสีลม ทาง กทม.ได้จัดพื้นที่ไว้ 3 จุด คือ ซอยคอนแวนต์ ซอยศาลาแดง และถนนสีลมตรงข้ามวัดแขก

Advertisement

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า สำหรับการหาสถานที่การค้าเพิ่มเติม มีการต่อรองกับเจ้าของที่ซอยพัฒพงษ์ให้ลดค่าเช่าแผงเหลือ 150 บาท จาก 400-700 บาทต่อวัน และไม่ต้องเสียค่าขยะ กทม.ช่วยดูแลอย่างเต็มที่ ไม่มีการทอดทิ้ง

“เราต้องดูแลผู้ค้าให้สามารถค้าขายได้ แม้ว่าหน้าที่ของเราจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ผมเองให้ ผอ.เขตและหัวหน้าฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 เขต ปฏิบัติเช่นนั้น”

“เข้าใจด้วยว่า เราคนไทยด้วยกัน เราต้องเข้าใจกัน ถ้าเราสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข อะลุ่มอล่วยกัน ผมว่าสังคมนี้ไม่มีปัญหาแน่ๆ” นายจักกพันธุ์ระบุ

Advertisement

นายจักกพันธุ์กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุการณ์ตามคลิปเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกับผู้ค้ารายนี้ เจ้าหน้าที่มีการตกลงพื้นที่การค้าใหม่ในซอยศาลาแดง แต่ผู้ค้าไม่ยอมย้าย ตนได้ลงไปพูดคุยพร้อมกับหัวหน้าฝ่ายเทศกิจว่าผู้ค้าดังกล่าวทำผิดกฎหมาย

“ในตอนนั้น ผู้ค้าได้เทน้ำเต้าหู้ 2 แกลลอน ซึ่งเป็นการเตรียมค้าขายต่อ ผมเป็นคนสั่งเองว่าให้ยึดของกลางไปที่สำนักงานเขต แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ไปเริ่มยึด ผมก็เลยไปยก 2 แกลลอนนั้นไปที่หลังรถเทศกิจ จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ช่วยยกของที่เหลือ”

“ต่อมามีคนมาล้อมเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน หัวหน้าฝ่ายเทศกิจพูดอยู่คนเดียว ในการดำเนินการตามกฎหมาย ต่อมามีประชาชนได้เข้ามาต่อว่าเจ้าหน้าที่ ผมจึงได้บอกทุกคนว่าให้ถอยออก เนื่องจากไม่อยากให้มีการกระทบกระทั่ง” นายจักกพันธุ์กล่าว

นายจักกพันธุ์เผยว่า คลิปที่ปรากฏว่าดูเหมือนเจ้าหน้าที่เทศกิจทำร้ายร่างกายนั้นไม่เป็นความจริง มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินประกบหัวหน้าฝ่ายเทศกิจพร้อมต่อว่า จากนั้นผู้หญิงรายดังกล่าวได้ล้มลงไปเอง ไม่มีใครไปแตะต้องเนื้อตัว

“ให้ทุกคนกระจายตัวให้มากที่สุด ผมก็เดินข้ามถนนไปตึกธนิยะ ผู้ค้ากลุ่มนี้ก็เดินตามต่อว่า ด่า ยืนยันว่าคลิปที่ออกไปว่า รองผู้ว่าฯไปตบตีแม่ค้า ‘ไม่เป็นความจริง’ ผมได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายเทศกิจไปแจ้งความกล่าวโทษผู้ที่กล่าวเช่นนั้นแล้ว”

“ระหว่างเดินหนีข้ามถนนมา มีพนักงานกวาดคนหนึ่งกลัวผมโดนตีหัว แกมาจูงมือผมข้ามถนนไปเลย”
“ทุกวันนี้ผมขอร้องหมด ไม่เคยสั่งเลย ท่านสามารถเดินถามผู้ค้าที่อยู่ริมถนนได้เลย เพราะผมคุยมาแล้วล่วงหน้า 3-4 เดือน ในแต่ละจุด ไม่ได้เชิญผู้ค้ามาคุยที่ศาลาว่าการด้วย ผมลงไปคุยเอง และพยายามให้ ผอ.เขต หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ค้า นั่นคือสิ่งที่เราต้องการทำ เราไปหาเขา ไม่ใช่เขามาหาเรา ทุกวันนี้เราปฏิบัติเช่นนี้อยู่ การที่เรามาทะเลาะกันเอง ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน เรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้น ถ้าทุกคนเข้าใจในสิทธิของตนเอง ปฏิบัติตามเงื่อนไข ผมคิดว่าสังคมนี้น่าจะอยู่ได้ดี” นายจักกพันธุ์กล่าว

ด้าน น.ส.อัญชนา ผอ.เขตบางรัก กล่าวว่า ถนนสีลมเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ มีพนักงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ต้องเดินบนผิวถนนซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับอุบัติเหตุ สำนักงานเขตบางรักได้พูดคุยเจรจากับผู้ค้าให้ย้ายพื้นที่การค้า พร้อมออกประกาศสำนักงานเขตบางรัก ห้ามทำการค้าบนทางเดินเท้า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ต่อมาได้ออกประกาศวันที่ 25 ธันวาคม 2565 แจ้งให้ผู้ค้าย้ายแผงค้างบนทางเท้าออกภายในวันที่ 2 มกราคม 2566

ต่อมาวันที่ 6, 9 และ13 มกราคม 2566 มีการเชิญผู้ค้ามาทำความเข้าใจว่า ทางสำนักงานเขตได้จัดพื้นที่จุดผ่อนผันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่มีผู้ค้าบางรายไม่สะดวกออกจากทางเท้า และมีผู้ค้ามาร้องเรียนที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ในวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา

น.ส.อัญชนาชี้ว่า สำหรับเหตุการณ์ตามคลิปเมื่อวันที่ 19 และ 20 มกราคมที่ผ่านมา ทางสำนักงานเขตบางรักได้ดำเนินการย้ายผู้ค้าเป็นขั้นตอน ไม่ให้มีการกระทบกระทั่ง เจ้าหน้าที่เทศกิจได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ทุกวันมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้

ขณะที่ นายศุภกฤต ผอ.สำนักเทศกิจ กล่าวว่า ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เพื่อจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม ยึดของกลาง เปรียบเทียบปรับ สำหรับผู้กระทำความผิด สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ค้ายอมรับว่าได้กระทำความผิดจริง และได้มาชำระค่าปรับที่สำนักงานเขตบางรักแล้ว ยืนยันไม่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน

เมื่อถามว่า ในคลิปมีแม่ค้าพูดว่าจุดการค้าย่านเยาวราช ประชาชนลงมาเดินบนถนนได้ ทำไมตรงนี้จะขายไม่ได้ ทาง กทม.จะชี้แจงกับประชาชนอย่างไร ?

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า เยาวราชเป็นจุดผ่อนผัน แต่ต้องยอมรับว่าธรรมชาติของนักท่องเที่ยวมีจำนวนมาก ทางเท้าเยาวราชแคบ ทำให้ประชาชนต้องเดินเท้าบนถนน โดยแผนในอนาคต สำนักเทศกิจร่วมกับสำนักเขตสัมพันธวงศ์ อาจจะจัดเป็นถนนคนเดิน ร่วมกับถนนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนกรุงเทพฯ ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวด้วย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image