สธ.ยันเดินหน้าถ่ายโอน รพ.สต.ตาม กม.เร่งศึกษาประเมินผลแก้จุดบอด

สธ.ยันเดินหน้าถ่ายโอน รพ.สต.ตาม กม.เร่งศึกษาประเมินผลแก้จุดบอด

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บางส่วน ประสงค์ขอย้ายกลับ ว่า การถ่ายโอนสอน. และ รพ.สต. เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องย้ำว่า สธ.เห็นด้วยกับหลักการกระจายอำนาจฯ และเชื่อว่าการถ่ายโอนภารกิจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเปลี่ยนผ่านย่อมจะเกิดปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะความไม่พร้อมทั้งคนรับและคนถ่ายโอน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงประชาชนได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ สธ.ให้ความสำคัญที่สุด คณะกรรมการจึงมีการติดตามประเมินผลว่าถ่ายโอนแล้วมีปัญหาอุปสรรคที่ต้องแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ทำให้พบข้อมูลต่างๆ เช่น ความไม่พร้อมของการถ่ายโอน ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน หรือความต้องการอยากย้ายกลับกระทรวง เป็นต้น

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า สธ.ยังคงเดินหน้าการถ่ายโอนภารกิจต่อไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการที่คณะกรรมการถ่ายโอนฯ กำหนด เท่าที่มีอำนาจตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จะนำข้อมูล ข้อเสนอต่างๆ จากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาหารือกันในคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งในส่วนของ สธ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ รพ.สต. รวมทั้งประเด็นปัญหาขัดกัน
ทางกฎหมายที่มีหลายฉบับต้องแก้ไข เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ โดยตั้งแต่มีการถ่ายโอนภารกิจในเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ สธ.ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งช่วยสนับสนุน รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไป อบจ. อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนหรือหากจะมีก็ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

“อุปสรรคอย่างหนึ่งของการถ่ายโอนในระดับการจัดการส่วนกลาง คือ การประชุมของชุดอนุกรรมการ
ที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ สธ.ต้องติดตามทวงถามบันทึกการประชุมอยู่ตลอด เพื่อนำมติที่ประชุมมารับรอง เพื่อเป็นฐานการใช้อำนาจในการออกมติต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติที่เกิดประโยชน์สุขของประชาชนและระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืน เนื่องจากมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง และลำดับชั้นของการ
ใช้กฎหมายประกอบอยู่มาก นอกจากนั้น คู่มือแนวทางการถ่ายโอนฯ ก็เร่งรีบดำเนินการ และไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งสิ่งนี้ในทางการใช้ระเบียบกฎหมายปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป” นพ.พงศ์เกษม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image