รมว.สุชาติ แฉนายหน้าเถื่อนเต็มโซเชียล เตือนคนไทย ระวัง! ถูกหลอกทำงานผิด กม.ในยูเออี

รมว.สุชาติ แฉนายหน้าเถื่อนเต็มโซเชียล เตือนคนไทย ระวัง! ถูกหลอกทำงานผิด กม.ในยูเออี

วันนี้ (31 มกราคม 2566) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้รับรายงานจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ว่าขณะนี้มีสาย นายหน้าเถื่อนหลอกลวงคนหางานไปทำงานพนันออนไลน์ และงานนวดสปาในยูเออี โดยเน้นการชักชวนผ่านเพจเฟซบุ๊กและเอเยนซี่เถื่อน หรือคนรู้จัก โดยแนะนำให้ใช้วีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าเยี่ยมเยือน (Tourist Visa or Visit Visa) เดินทางเข้าประเทศ เพื่อลักลอบทำงานเว็บพนันออนไลน์ ร้านนวดสปา ร้านอาหาร พร้อมแอบอ้างชื่อบริษัท หรือกิจการที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมารับสมัครงาน บางแห่งเอเยนซี่ออกเงินค่าใช้จ่ายให้ก่อน สุดท้ายเมื่อเดินทางถึงประเทศยูเออี หากเป็นงานเว็บพนันออนไลน์จะถูกยึดหนังสือเดินทาง ให้ทำงานเกินระยะเวลาที่ตกลง เมื่อขอยกเลิกไม่ทำงาน จะถูกเรียกค่ายกเลิกวีซ่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้านงานนวด เมื่อไปถึงพบเป็นงานนวดแฝง นำไปสู่การประเวณี บางรายให้เซ็นสัญญารับสภาพหนี้ หากทำงานไม่ได้ หรือไม่มีรายได้ตามเป้า จะถูกส่งขายเป็นทอดๆ ทำให้หนี้ยิ่งเพิ่มขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในยูเออีอย่างยิ่ง โดยได้มอบหมายกรมการจัดหางาน (กกจ.) ตรวจสอบคนหางานที่มีพฤติการณ์ลักลอบเดินทางไปทำงานอย่างเข้มงวด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ทราบเพื่อป้องกันการหลอกคนไปทำงานยูเออี และขอย้ำเตือนให้คนหางานต่างประเทศศึกษา ตรวจสอบบริษัทที่จะเดินทางไปทำงานให้รอบคอบ และศึกษาวิธีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องเดินทางผ่านด่านตรวจคนหางาน กกจ.เท่านั้น หากมีผู้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานว่าอาจถูกหลอกลวง หรือตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดี กกจ. กล่าวว่า กกจ.รับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมอบหมายกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน เฝ้าระวังการหลอกลวงไปทำงานผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและช่องทางต่างๆ หากพบผู้กระทำผิดจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชักชวนและหลอกลวงคนหางานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กกจ.มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปีงบประมาณ 2566 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 23 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 79 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 7,979,270 บาท” นายไพโรจน์กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ อธิบดี กกจ.กล่าวว่า ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e-Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/ipd และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2245-6763 และ 0-2245-6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image