ถอดรหัสรื้อกฎซุก ‘ยาบ้า’ เกิน 1 เม็ด เท่ากับผู้ค้า

ถอดรหัสรื้อกฎซุก ‘ยาบ้า’ เกิน 1 เม็ด เท่ากับผู้ค้า

ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศปราบปรามยาเสพติด “ยาบ้า” งัดดาบแก้กฎกระทรวง กำหนดการถือครองยาบ้า 1 เม็ด ถือเป็น “ผู้ป่วย” ต้องนำเข้าบำบัด เกินกว่า 1 เม็ดถือเป็น “ผู้ค้า” ต้องส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทว่า ยังมีข้อสงสัยที่มาที่ไปของการแก้กฎหมาย และข้อห่วงกังวลว่าจะมีผู้ป่วยยาเสพติดล้นสถานบำบัดนั้น

นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) และผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สธ. ชี้แจงว่า ปัญหายาเสพติดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชนและสังคม จึงต้องทบทวนว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องแก้ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งแง่กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการบำบัดรักษา กฎหมายยังมีความแตกต่างกันเรื่องปริมาณการถือครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 หรือยาบ้า บางฉบับระบุไว้ที่ 15 เม็ด บางฉบับที่ 5 เม็ด ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ สธ.ทบทวนเรื่องดังกล่าว จึงนำมาสู่การประชุมของคณะกรรมการบำบัดรักษาฯ เพื่อหารือถึงปริมาณถือครองยาบ้าที่เหมาะสม
ต้องคำนึงเรื่อง “ผู้ค้า” ต้องยอมรับว่าผู้ค้าส่วนหนึ่งหลบเลี่ยงกฎหมาย ด้วยการถือครองยาบ้าในปริมาณน้อย เพื่อไม่ให้ถูกจับฐานค้ายาเสพติด โทษจะหนักกว่าโทษในฐานผู้เสพ ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการยก ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือ ประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. …

“คณะกรรมการบำบัดรักษาฯได้ทบทวนร่วมกันระหว่างคณะกรรมการวิชาการจากกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต เราคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมและตัวผู้เสพ อาศัยข้อมูลทางวิชาการระบุว่าประเทศที่กำหนดให้ถือครองในปริมาณน้อย ทำให้มีผู้เสพน้อยลง ขณะที่ประเทศที่กำหนดปริมาณมากก็มีอัตราการเสพมาก เพราะปริมาณเม็ดมีความเกี่ยวข้องกับการเสพ นอกจากนั้น ปริมาณที่ถือครองเพื่อเสพมีผลต่อสมองด้วย เสพมากก็มีผลมากประกอบกับความที่ระบุในมาตรา 107 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1, 2 หรือ 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือ 2 ในปริมาณเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ สธ.พิจารณาอย่างรอบด้าน จึงพิจารณาปริมาณการถือครองเพื่อเสพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งสังคมและตัวผู้เสพที่ 1 เม็ด” นพ.ภัทรพลกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาฯ กล่าวถึงสถานการณ์การดูแลปัญหายาเสพติดในช่วงที่ผ่านมาว่า ในกระบวนการทำงาน มีการบำบัดกรณีการเสพและการครอบครองเพื่อเสพ สธ.จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลผู้ใช้ยาเสพติดในฐานะ “ผู้ป่วย” สอดคล้องกับหลักแนวคิดของยูเอ็น (UN) ประเทศไทยดำเนินการมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว แต่เมื่อมีประมวลกฎหมายยาเสพติดฯก็ทำให้มีความชัดเจนขึ้น

“อย่างที่เห็นว่าจะมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เป็นมิติใหม่ของกฎหมาย ให้ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด จะได้รับการดูแลจากภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ป้องกันไม่ให้เขากลับมาเสพซ้ำ ฉะนั้นการบำบัดรักษาจะไม่ใช่แค่สถานพยาบาล แต่ต้องสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ครอบครัว และสังคม” นพ.ภัทรพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.ภัทรพลบอกว่า ได้ประมาณการทางวิชาการ ทำให้ได้ตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดยาเสพติดในประเทศไทย 1.9 ล้านคน ฉะนั้น การบำบัดรักษาผู้เสพ นายอนุทินมีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องคัดกรองผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม 1.ผู้ใช้คือ ผู้หลงผิดยังไม่นาน ใช้ปริมาณไม่มาก คนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ถึงร้อยละ 74 ของทั้งหมด หรือคิดเป็น 1.4 ล้านคน ตำรวจและกระทรวงมหาดไทยรีเอกซเรย์ (Re X-ray) หาคนกลุ่มนี้ในชุมชน เพื่อดูแลในระดับชุมชน

Advertisement

2.ผู้เสพคือกลุ่มต้องช่วยเหลือจากแพทย์ กลุ่มนี้มีร้อยละ 24 คิดเป็น 4.56 แสนคน นโยบายของรัฐมนตรีว่าการ สธ.ให้เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดครบทุกจังหวัดแล้วจากไม่เคยมีมาก่อน ให้มีคลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้เสพเข้าสู่การบำบัด และ 3.ผู้ติดคือ ผู้ใช้ยาเสพติดจนสมองติดยา กลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 2 คิดเป็น 3.5 หมื่นคน กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการบำบัดในสถานบำบัดยาเสพติด ของกรมการแพทย์ สธ. ทั้ง รพ.ธัญญารักษ์ 6 แห่ง สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต

ส่วนความกังวลว่าถ้าลดปริมาณการถือครองลงมา 1 เม็ด จะทำให้มีผู้ต้องเข้าสู่การบำบัดในสถานบำบัดยาเสพติดมากขึ้นนั้น ยืนยันว่า ตัวเลข 1 เม็ด เป็นข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย แต่การปฏิบัติงานของตำรวจ จะต้องดูพฤติการณ์ของคนตรวจพบยาเสพติดจะดูได้ว่าเขาใช่หรือไม่ใช่ผู้ค้าตามมาตรา 114 ในประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ เขาสามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดได้ อย่างไรก็ตาม กรณีเรื่องขึ้นชั้นศาลแล้ว ตามมาตรา 165 ให้อำนาจศาลคำนึงถึงการให้โอกาสบำบัดรักษามากกว่าจะพิจารณา ประกอบด้วยปริมาณของยาเสพติดเกี่ยวพันกับผู้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงผู้กระทำความผิด เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ นิสัย สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาระการเลี้ยงดูครอบครัว การเสพเพื่อรักษาโรค บรรเทาความเจ็บปวด ความจำเป็นต้องเสพด้วยเหตุอื่น สภาพร่างกาย และสภาพจิตใจ สิ่งแวดล้อม การถูกบังคับขู่เข็ญหลอกลวงให้เสพยาเสพติด หรือตกเป็นเครื่องมือของผู้ค้ายาเสพติด หรือเหตุอันควรปรานีอื่นใด

มาถึงคำถามว่า การแก้ไขกฎกระทรวงนี้เพื่อปกป้องและดูแลความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างให้การบำบัดรักษาผู้เสพยาบ้าด้วยหรือไม่ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. ให้ข้อมูลว่า ตามปกติแล้วจะมีแนวทางปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกู้ชีพฉุกเฉิน จะต้องควบคุมให้ผู้มีอาการคลุ้มคลั่งจากการเสพยาสงบลงก่อนจะนำตัวมาส่งถึงบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเรื่องการอาละวาดแล้วมาทำร้ายบุคลากร ส่วนการดูแลในสถานพยาบาลนั้น ผู้บำบัดยาเสพติดจะได้รับยาเพื่อถอนฤทธิ์ยาเสพติด ใช้เวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ ช่วงนี้บางรายจะมีอาการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ หรือเรียกว่า อาการลงแดง แต่ไม่ได้ถึงขั้นคลุ้มคลั่ง จากนั้นจะเข้าสู่การฟื้นฟูเรื่องสมองติดยาอีกประมาณ 1 เดือน หรือ 4 เดือน ขึ้นอยู่กับแต่ละราย สุดท้ายจะเป็นการติดตามต่อเนื่องอีก 1 ปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้บำบัดส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการคลุ้มคลั่งหรือเมายาในขณะบำบัด ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ก่อความรุนแรงกับบุคลากรทางการแพทย์ สอดคล้องกับสถิติของ สบยช.พบความรุนแรงเกิดขึ้นจากการบำบัดผู้ป่วยปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น หรือบางปีก็ไม่มีเลย

ทั้งหมดนี้ เป็นที่มาของการยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ ผ่านมติในที่ประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาฯแล้ว และกำลังจะมีการนำเข้าไปเสนอในที่ประชุม ครม.วันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ต่อไป

ดังนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบจากระดับการเมืองไปในทิศทางใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image