อนุทิน เซ็นแล้ว! รับวัคซีนโควิด รุ่น 2 ล็อตบริจาค 5 แสนโดส เข้าไทยสิ้นกุมภาฯ ฉีดกลุ่มเสี่ยง

อนุทิน เซ็นแล้ว! รับวัคซีนโควิด รุ่น 2 ล็อตบริจาค 5 แสนโดส เข้าไทยสิ้นกุมภาฯ ฉีดกลุ่มเสี่ยง

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยภาพรวมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยพบผู้ป่วยลดลง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ของไทยมีผู้ป่วยใหม่ 200 กว่าราย ผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเดิม คือ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับเข็มล่าสุดนานแล้ว ดังนั้น ยังแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง 607 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รวมถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ในผู้สูงอายุ ด้วย

“ขณะนี้โควิด-19 ยังเป็นโรคติดต่อที่เราต้องเฝ้าระวัง แต่สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงขึ้น ฉะนั้น เรายังใช้แนวทางเดิม วัคซีนโควิด-19 จะมีการฉีดเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ปีละ 1-2 เข็ม ส่วนจะปรับเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่นั้น จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป” นพ.ธเรศกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทุกชาติ เข้ามาประเทศไทยวันละประมาณ 6-7 หมื่นคน จากการติดตามในรอบ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 พบว่า ผู้ติดเชื้อที่เข้ามาสู่ระบบรักษาของโรงพยาบาล (รพ.) ประมาณ 12 รายต่อสัปดาห์ สัปดาห์ล่าสุดมี 1 ราย และไม่ได้มีอาการหนัก แสดงให้เห็นว่าระบบที่ สธ.ดำเนินการเป็นไปตามแนวทางและการคาดการณ์ ขณะที่ หลังจากนี้จะมีการเดินทางเข้ามาแบบกรุ๊ปทัวร์ ที่ประชุมจึงมอบให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์การติดเชื้อว่า เพิ่มขึ้นหรือมีประเด็นอะไรใหม่หรือไม่ ส่วนผลการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติ ขณะนี้มีหน่วยบริการของรัฐใน 37 จังหวัด ซึ่งจะประสานให้มีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 จุด และสัปดาห์หน้าคาดว่า รพ.เอกชน จะพร้อมให้บริการด้วย ขณะที่ตัวเลขการฉีดอยู่ในระหว่างการรวบรวมในระบบรายงาน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้วัคซีน 2 ชนิด คือ ไฟเซอร์ และ แอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 ชนิด มีความปลอดภัยสูง ส่วนประเด็นความกังวลของการขยายอายุวัคซีนไฟเซอร์นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้ข้อมูลแล้วว่า ในการอนุมัติขยายอายุวัคซีนเป็นไปตามมาตรฐานและกฎอนามัยโลก เพราะมีการตรวจสอบแล้วว่า ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้และมีคุณภาพดี ขณะนี้มีการขยายอายุวัคซีนเป็น 15 เดือน ในหลายประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) ส่วนเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย นพ.โสภณกล่าวว่า ปัจจุบันการฉีดวัคซีนภาพรวมลดลงทั่วโลก แต่เราก็ยังรณรงค์ให้มีการรับวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดในช่วงนี้ก็จะเป็นการกระตุ้นเพื่อรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ นั้น ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ลงนามอนุมัติการรับวัคซีน และส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว ซึ่งจะเป็นการรับบริจาค 500,000 โดส

“คาดว่า จะเข้ามาถึงไทยภายในสิ้นเดือนกุมภาพพันธ์นี้ วัคซีนรุ่นใหม่เป็นชนิดไฟเซอร์ เป็นการรวมกัน 2 สายพันธุ์ คือ อู่ฮั่น และ โอมิครอน อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาทางวิชาการระบุชัดว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไม่ต่างจากของเดิมมากนัก ดังนั้น ประชาชนยังสามารถรับวัคซีนชนิดเดิมได้โดยที่ไม่ต้องรอรุ่นใหม่ ทั้งนี้ สำหรับวัควีนรุ่นใหม่จะมีการเริ่มฉีดในกลุ่มเสี่ยง คือ บุคลากรทางการแพทย์ คนทำงานด่านหน้า และกลุ่ม 608 ต่อไป” นพ.โสภณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image