จิตแพทย์ จับมือ สอศ.ลุยคัดกรองสุขภาพจิตโจ๋อาชีวะ ชี้โควิดทำผลการเรียนเด็ก 15 ปี ตกต่ำ

จิตแพทย์ จับมือ สอศ.ลุยคัดกรองสุขภาพจิตโจ๋อาชีวะ ชี้โควิดทำผลการเรียนเด็ก 15 ปี ตกต่ำ

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ระหว่าง กรมสุขภาพจิต กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เกิดความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการแล้ว เพื่อดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่น ทั้งนี้ ทั่วโลกมีการคาดการณ์สถานการณ์ว่าหลังโควิด-19 จะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา มีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับความยากในการเรียน การเรียนรู้ทักษะทางสังคม และกลุ่มวัยรุ่นที่มีความแตกต่างจากวัยอื่นในแง่ความสัมพันธ์ของครอบครัว ทำให้ช่วงโควิด-19 มีความไม่ลงตัวกันมากขึ้น ในประเทศไทยมีการสำรวจสุขภาพจิต เมื่อปี 2565 พบว่า กลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี มีคะแนนต่ำที่สุด ดังนั้น หากเราไม่แก้ไข คะแนนที่ต่ำนั้นจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงในวัยทำงาน จึงหารือร่วมกับ ศธ. เพื่อดูแลส่งเสริมสุขภาพจิต ให้ได้รับการคัดกรองเบื้องต้น ก็จะทำให้ช่วยเหลือเด็กได้

“ธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นวัยเปราะบาง เพราะมีการเปลี่ยนผ่านทางร่างกายและจิตใจ มีความต้องการและการตอบสนองกับสังคมที่ไม่เหมือนเดิมเพราะเป็นช่วงรอยต่อ รวมถึงข้อจำกัดเรื่องความลักลั่นที่สมองยังเติบโตไม่ลงตัว ฉะนั้น พัฒนาทางอารมณ์เติบโตไปในขณะที่สมองที่ควบคุมเหตุผล อาจตามไม่ทันกัน จึงทำให้วัยรุ่นเปราะบาง อีกทั้งความคาดหวังจากคนรอบข้างทำให้วัยรุ่น อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว กับคุณครู กับเพื่อน กับคนรอบข้างจึงเกิดง่ายขึ้น” ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าว

Advertisement

พญ.อัมพรกล่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ทำให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจอารมณ์ เข้าใจพ่อแม่ เข้าใจว่าควรตอบสนองกับคนรอบข้างอย่างไร แต่ในทางกลับกัน หากเขาไม่เข้าใจตัวเองหรือไม่ได้รับความเข้าใจ ก็จะเป็นจุดอ่อนของวัย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า มาเป็นโรคซึมเศร้า นำมาสู่ความคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ การสังเกตภาวะเสี่ยงปัจจัยสำคัญของภาะซึมเศร้าในวัยรุ่น เช่น เศรษฐานะของครอบครัว, การปรับตัวต่อหน้าที่ตามวัย นั่นคือ การเรียน ถ้าการเรียนเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นลบ ก็เป็นการเตือนภัย, การแยกตัวออกจากเพื่อนฝูง, ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่รุนแรงขึ้น และพฤติกรรมทางกฎหมาย เช่น อาชญากรรม อบายมุข

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับอาการไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชโรคหนึ่ง ที่เกิดจากสารเคมีในสมองรวน จนเกิดอาการ 2 ขั้ว คือ อารมณ์คึกคัก เรียกว่า ขาขึ้น (Manic Episode) แสดงออกมาทางคำพูด เช่น พูดเยอะ พูดเพ้อเจ้อ พูดเร็วสับสน ไปเที่ยวหรือใช้เงินมากแบบไม่ยั้งคิด มีการเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข และอีกด้าน คือ อารมณ์รุนแรงมากผิดปกติ เรียกว่า ขาลง (Depressive Episode) ซึ่งอาจมีอาการโรคซึมเศร้า กินไม่ได้นอนไม่หลับ รู้สึกด้อยค่า ซึ่ง 2 ขั้วนี้ จะอยู่ห่างกันในช่วงสัปดาห์ โดยหากเกิดขั้วไหนก็จะกินเวลาประมาณ 1-3 เดือน อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถควบคุมและรักษาได้ด้วยยาของแพทย์

Advertisement

“สาเหตุการเกิดโรคไบโพลาร์ จิตแพทย์เชื่อว่า มาจากชีวภาพและพันธุ์กรรม ที่มีความผิดปกติส่งผลให้เกิดภาวะของโรคไบโพลาร์ นอกจากนี้ยังมีตัวกระตุ้นคือความแปรผันของชีวิต ความเครียด และการไม่สามารถปรับตัวในสังคมได้ ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์มีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งหากพบอาการไบโพลาร์ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นซึมเศร้าได้ ขึ้นอยู่กับขั้วของอารมณ์” พญ.อัมพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image