จิตแพทย์ชี้ความรุนแรงในครอบครัว สร้างปมในใจ แนะใช้ พ.ร.บ.ป้องกันฯ ช่วยเหยื่อ-ผู้กระทำ

จิตแพทย์ชี้ความรุนแรงในครอบครัว สร้างปมในใจ แนะใช้ พ.ร.บ.ป้องกันฯ ช่วยเหยื่อ-ผู้กระทำ

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีความรุนแรงในครอบครัวจากเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย จนเกิดปมในใจ ว่า การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำร้ายร่างกาย จะสร้างความทรงจำฝังใจได้ ทำให้เกิดอาการหวาดกลัว หวาดผวา ซึ่งต้องได้รับการดูแลบำบัดรักษา เพราะมิเช่นนั้นอาจทำให้การใช้ชีวิตไม่ปกติ ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงในครอบครัว โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ที่เปิดช่องให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้

“ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน หากพบเห็นความรุนแรง อย่างน้อยเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ จะช่วยได้ทั้งผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำ เพราะบางครั้งความรุนแรงในครอบครัว ก็เกิดจากผู้ที่มีความผิดปกติ หรือ เป็นผู้ป่วย เป็นผู้กระทำ เกิดการบังคับบำบัดรักษา และช่วยหยุดยับยั้งพฤติกรรม บาดแผลทางใจเมื่อเป็นแล้ว ก็จะใช้เวลานานกว่าจะหาย บางคนหวาดผวา บางคนฝันร้าย ดังนั้น เมื่อมีเครื่องมือมาใช้แก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ก็ควรนำมาใช้ เพราะ พ.ร.บ.แก้ไขความรุนแรงในครอบครัวฯ ไม่ได้มุ่งเอาผิดใครคนใดคนหนึ่ง แต่มุ่งเข้าไปช่วยเหลือ ยับยั้งมิให้เกิดความรุนแรง และช่วยให้คนเห็นเหตุการณ์ คนใกล้ชิด ตระหนักที่จะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในครอบครัว” นพ.ยงยุทธกล่าว

ทั้งนี้ นพ.ยงยุทธกล่าวว่า การที่ผู้ถูกกระทำ ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัว แต่ไม่อาจก้าวพ้นออกจากครอบครัวนั้นได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมาจากครอบครัวปิด เช่น กลัวการเป็นข่าว หรือการถูกเปิดเผยเรื่องในครอบครัว ทำให้ต้องจำทน แต่เมื่อใช้ พ.ร.บ.นี้ จะทำให้การแก้ไขปัญหาง่ายขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image