แฉกลมิจฉาชีพออนไลน์ ปีเดียวเจอกว่า 2 แสนครั้ง สูญกว่า 3 หมื่นล้าน จิตแพทย์แนะไม่ซ้ำเติมเหยื่อ

แฉกลมิจฉาชีพออนไลน์ ปีเดียวเจอกว่า 2 แสนครั้ง สูญกว่า 3 หมื่นล้าน จิตแพทย์แนะไม่ซ้ำเติมเหยื่อ

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2566) ที่โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย รุ่นที่ 25” ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2566 เปิดเวทีเสวนา เรื่อง การหลอกลวงในโลกออนไลน์ ปัญหาโลกแตกกระทบสุขภาพจิต โดยมี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เข้าร่วม

พญ.อัมพร กล่าวว่า สำหรับเรื่องการถูกหลอกในโลกออนไลน์ เกิดขึ้นได้ทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกหลอกด้วยการถูกเล่นกับความรู้สึก เช่น การทำให้รู้สึกว่าเหยื่อเป็นคนสำคัญ สร้างความรัก ทำให้เชื่อใจ จากนั้น ก็จะสร้างความไว้ใจทำให้เหยื่อต้องโอน หรือต้องโชว์ร่างกายเพื่อพิสูจน์ความเชื่อใจ

“อย่างไรก็ตาม การจัดการกับความรู้สึกรัก จะต้องให้เวลาตัวเองให้มาก หากว่ารักเขามากในขณะที่เราจัดการตัวเองได้ไม่ดี เราก็อย่าทำอะไรที่มากกว่านี้ เพราะ คนร้ายมักจะหลอกให้รัก ทำให้เราชาชินกับเรื่องที่เราไม่อยากทำ เช่น รักแล้วต้องเปย์ รักแล้วต้องโป๊ ฯลฯ แล้วก็จะนำมาสู่สิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้สูญเสียความเป็นตัวเอง นึกไว้เสมอว่า ความรักเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งที่ไม่จริงเสมอไป ทั้งนี้ คำถามว่า ทำไมเขาถึงไม่แจ้งผู้ปกครอง หรือแจ้งคนรอบข้าง นั่นเพราะว่า เหยื่อจะรู้สึกเสียหน้า รู้สึกว่าไม่อยากถูกตอกย้ำ” พญ.อัมพร กล่าวและว่า กรมสุขภาพจิต อาจไม่ได้เข้าไปดูเรื่องกฎหมายในการจัดการคนร้าย แต่จะดูแลปัญหาอารมณ์ทุกประเภท เช่น การเข้าไปแทรกซึมในทุกองค์กร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทางสุขภาพจิตเข้าไปในทุกองค์กรและทุกหน่วยงาน

Advertisement

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับวัยเรียนนั้น กรมสุขภาพจิตได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งควรจะมีกลุ่มงานที่ดูแลสุขภาพจิตให้นักศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ และล่าสุดคือ อาชีวศึกษา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างราบรื่นเป็นระบบ

“โดยสิ่งสำคัญที่ทำคู่กันไป คือ เด็กๆ จะต้องมีระบบดูแลกันเอง มีผู้ช่วยเหลือที่เสมือนนักบำบัด มีบัดดี้ ดูแลกันเอง หรือมีคนคอยจับสัญญาณในไลน์กลุ่ม ในโลกออนไลน์ เช่น การส่งแชท การโพสต์ต่างๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนภัย แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม เพื่อไม่ให้เผลอไปทำร้ายเขาซะเอง” พญ.อัมพร กล่าวและว่า กรมสุขภาพจิตมีสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ที่มีนักจิตวิทยา คอยให้คำแนะนำเพื่อให้คนที่กำลังทุกข์ได้ปรึกษา หรืออาจแนะนำให้ไปพบกับจิตแพทย์ ทั้งนี้ ไม่ได้ดูแลเฉพาะคนวิกลจริต มีทีมดูแลทั้งจิตแพทย์ ทั้งนักจิตวิทยา ให้คำแนะนำผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตในทุกมิติ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่จะช่วยเยียวยาปัญหาจิตใจของเหยื่อที่เคยถูกหลอกในโลก   ออนไลน์ให้สูญเสียเงินนั้น วิธีช่วยคือ จะต้องไม่ไปตอกย้ำเขา

Advertisement

“ไม่ไปบอกว่าเราเตือนแล้วนะ หรือไปบอกว่าไม่น่าไปหลงเชื่อคนแบบนี้เลย เราจะต้องให้กำลังใจว่า คนเรานั้นเสียทรัพย์สิน เสียเกียรติยศ เสียหน้า แต่เรายังมีชีวิตอยู่ แล้วกลับมาตั้งหลักใหม่ ไม่ให้เราหกล้มในท่านั้นอีกครั้ง” พญ.อัมพร กล่าวและว่า สำหรับความสูญเสียที่รุนแรง กรมสุขภาพจิตพยายามทำเชิงรุก เช่น ทีม MCATT จะเป็นทีมที่รุกเข้าพื้นที่เกิดหตุทันที เช่นเดียวกันถ้ามีภัยไซเบอร์ที่รุนแรง ก็จะกระโดดเข้าไปด้วย แต่ถ้าเรื่องไหนที่ยังมีเวลา ก็จะทำงานเชิงรับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งต่อผู้ที่มีภาวะนั้นมาให้ได้รับความช่วยเหลือ

ด้าน พ.ต.ท.ธนธัส กล่าวถึงปัญหาการถูกหลอกผ่านออนไลน์ ว่า ขณะนี้ปัญหาการถูกหลอกให้เสียทรัพย์ทางโลกออนไลน์เกิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกเวลา จากที่ สอท.ได้เปิดเว็บไซต์ www.thaipolice.net เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเรื่องการถูกหลอกทางออนไลน์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 มีการส่งเรื่องเข้ามาถึง 200,000 ครั้ง มูลค่าความสูญเสียกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในนั้น ก็จะมีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วย โดยการถูกหลอกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการหลอกจ้างทำงาน

“อย่างที่พบบ่อยๆ เช่น หลอกให้โอนเงินไปมัดจำทำงาน แล้วจะโอนค่าแรงกลับมาให้ จากนั้นก็เริ่มปฏิบัติการหลอก แล้วเมื่อโอนไปแล้วก็บล็อกหายไป ในหลายครั้งที่มีผู้เสียหายมาคุยกับตำรวจแล้วก็บอกว่า ช่วยจับคนร้ายให้ได้ เพราะเขาก็เสียเงินไปเยอะ เพราะถ้าไม่ได้เงินคืน เขาคงหมดปัญญา ต้องไปฆ่าตัวตาย และหลายๆ ครั้งเราก็เห็นเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งนั่นเราจะต้องประสานไปยังกรมสุขภาพจิตเพื่อเข้ามาช่วยดูแลปัญหาด้านนี้ เพราะทางภาครัฐเองยังไม่มีมาตรการเยียวยาเหยื่อที่เป็นรูปธรรม” พ.ต.ท.ธนธัส กล่าว

พ.ต.ท.ธนธัส ยังกล่าวถึงแอพพลิเคชั่น “หาคู่” ว่า ขณะนี้สร้างความปวดหัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมาก เนื่องจากการลงทะเบียนแอพพ์ ร้อยละ 90 ไม่มีการยืนยันตัวตน จะมีเพียงอีเมล เบอร์โทรศัพท์ และไอพีแอดเดรสของเครื่องมือสื่อสารที่ใช้แอพพ์

“ดังนั้น ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันตัวตนได้เลย กระบวนการของการหลอก จะมีการขโมยรูปภาพมาสร้างตัวตน สร้างบัญชี จากนั้น คนร้ายจะศึกษาข้อมูลเหยื่อจากสื่อที่ใช้แล้วเปิดเป็นสาธารณะ จากนั้น ก็จะทักเข้ามาเพื่อชวนคุย คลายความเหงา คุยให้รู้สึกว่าตรงใจกับเหยื่อ แต่นั่นไม่ใช่พระเจ้าส่งมา เพียงแต่เป็นการศึกษาคนๆ หนึ่งมาก่อน เป็นการสร้างสตอรี่ สร้างเรื่องสมมติขึ้นมา กลุ่มเป้าหมายของคนร้ายในแอพพ์หาคู่ คือ เหยื่อช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่คู่ครองทำงานหนัก ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานาน คนร้ายพวกนี้จะคืบคลานเข้ามา จนเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจคนเหยื่อ ทำให้สูญเสียตัวตนของเหยื่อโดยไม่รู้ตัว เริ่มผูกพันมากขึ้น จากนั้นจะเริ่มหลอกให้โอนเงินไป และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นก็ไม่กล้าปรึกษาใคร เพราะความสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยความผิดพลาด ทำให้ไม่กล้าปรึกษาใคร ดังนั้น ครอบครัวต้องเข้าใจ เปิดใจคุยกัน เพราะถ้าไม่คุยกันก็จะนำมาสู่การไม่ยอมแจ้งความ เพราะกลัวเสียชื่อเสียง เสียหาย แต่ต้องย้ำว่า การแจ้งความของท่านมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้ตำรวจมีข้อมูลในระบบที่มากขึ้น เสมือนเหมือนจิ๊กซอว์ ทำให้ตำรวจรู้ถึงตัวคนร้าย นำมาสู่กระบวนการจับกุมมาลงโทษ ซึ่งอาจทำให้เราได้รับเงินคืนบ้าง” พ.ต.ท.ธนธัส กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image