วัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ‘สายผสมอู่ฮั่น-โอมิครอน’ เข้าไทยแล้ว 5 แสนโดส เตรียมฉีดกลุ่มเสี่ยงต้น มี.ค.

วัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ “สายผสมอู่ฮั่น-โอมิครอน” เข้าไทยแล้ว 5 แสนโดส เตรียมฉีดกลุ่มเสี่ยงต้น มี.ค. ฝรั่งเศสบริจาคเพิ่ม 1 ล้านโดส สธ.คาดเพียงพอถึงปี 2567 ไม่ต้องจัดงบซื้อเพิ่มเอง

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย และเราได้เร่งรณรงค์ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยในคลินิกล้างไต ผู้สูงอายุในสถานรับดูแล โดยสัปดาห์หน้าเราจะไปรณรงค์ในสถานรับดูแลผู้สูงวัยให้ได้รับการฉีด LAAB มากขึ้น ส่วนสต๊อกวัคซีนรุ่นเดิมที่เรามีในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ชัด เนื่องจากได้กระจายไปไว้ที่คลังของภูมิภาคแล้ว ซึ่งจะมีการเช็กจำนวนเพื่อรายงานให้ทราบต่อไป

นพ.ธเรศกล่าวว่า ไทยได้รับการสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 ชนิดไบวาเลนท์ (bivalent) ที่เป็นการผสมกันระหว่างอู่ฮั่นและโอมิครอน ทั้งนี้ล็อตแรก 5 แสนโดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีใต้ เข้ามาถึงไทยแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจคุณภาพโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สัปดาห์หน้าจะทำพิธีรับมอบ จากนั้นจะกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ตามสัดส่วนของกลุ่มเสี่ยงที่ทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบว่า ระยะแรกที่วัคซีนมีจำกัดจึงจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าในการดูแลโควิดและกลุ่ม 607 ประกอบด้วย ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ต้นเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม วัคซีนรุ่น 2 จะใช้เป็นบูสเตอร์โดส ข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนตามหลักฐานวิชาการระบุว่า ไม่ต่างจากรุ่นเดิมที่ใช้ในปัจจุบันมากนัก ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มอื่นที่มีความประสงค์ฉีดก็สามารถติดต่อกับสถานพยาบาลนั้นๆ ได้

นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนไบวาเลนท์ ไทยจะได้รับสนับสนุนจากฝรั่งเศสอีก 1 ล็อต จำนวน 1 ล้านโดส จะเข้ามาในเดือนมีนาคม ขณะเดียวกัน เราก็ได้รับการสนับสนุนวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งด้วย ทำให้ปัจจุบันเรามีวัคซีนเพียงพอ สามารถฉีดให้กับประชาชนได้ในลักษณะเข็มกระตุ้นโดยจะฉีดเหมือนกับไข้หวัดใหญ่คือปีละ 1-2 เข็ม จึงคาดว่าปี 2567 ไทยจะมีวัคซีนเพียงพอ ไม่ต้องจัดหามาเพิ่มเติม

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.ธเรศยังกล่าวถึงการเฝ้าติดตามการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) ในประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ในแอฟริกากลาง ว่า กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์โรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มอบหมายให้ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทำการตรวจคัดกรองกลุ่มคนที่มาจากประเทิศอิเควทอเรียลกินี และประเทศข้างเคียง ว่ามีปัญหาสุขภาพอะไรหรือไม่ เป็นการตรวจประเมินก่อนเข้าประเทศไทย ทั้งนี้กลุ่มประเทศดังกล่าวได้มีการตรวจเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองอยู่แล้ว จึงมีการตรวจสอบอยู่แล้ว โดยขณะนี้ก็มีการยกระดับเฝ้าระวัง และติดตามอาการตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับไวรัสมาร์บวร์ก เป็นโรคอันตรายที่ประกาศไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อพบสถานการณ์อะไรผิดปกติก็จะออกแนวทางเข้มข้นได้ทันที เช่น นำคนมาคลอรันทีน ติดตามเป็นพิเศษ ทั้งนี้ขอให้สบายใจ เพราะจากการตรวจสอบกลุ่มประเทศนี้มาไทยค่อนข้างน้อยมาก อย่างปลายปีที่แล้วมาเพียง 10 กว่าคนแล้วไม่พบอาการใดๆ ไม่พบคนไม่สบาย อย่างไรก็ตาม ไวรัสดังกล่าวเมื่อป่วยแล้ว จะเสี่ยงเสียชีวิตถึง 88% ก็จริง แต่มาประเทศไทยน้อยมาก จึงไม่ต้องกังวล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image