อธิบดีกรมจัดหางาน ยันส่งคนงานเก็บผลไม้ฟินแลนด์-สวีเดน โปร่งใส

อธิบดีกรมจัดหางาน ยันส่งคนงานเก็บผลไม้ฟินแลนด์-สวีเดน โปร่งใส

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2566) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของ นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชลบุรี พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ได้ระบุถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ ประเด็น กกจ.ปล่อยให้มีการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์มากจนเกินไป รวมทั้งแรงงานที่ไปเก็บผลไม้ป่าไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล กกจ.สร้างความน่าเชื่อถือให้เอกชนโดยจัดอบรมให้แรงงานก่อนเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า และแรงงานที่ไปเก็บผลไม้ป่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากค่าจ้างและสวัสดิการ ว่า เรื่องนี้ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การที่แรงงานไทยจะได้ไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ จำนวนกี่คน ใครได้รับอนุญาตบ้างนั้น ในแต่ละปีจะต้องมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ สถานทูตไทยประจำประเทศฟินแลนด์และสวีเดน ประเทศต้นทาง และ กกจ. หารือถึงจำนวนแรงงานที่ต้องการจัดส่ง โดยประเทศต้นทางจะเป็นผู้อนุมัติและมีหนังสือขอโควตาจำนวนคนงานที่จะให้ไปเก็บผลไม้ป่า

“ปีที่ผ่านมา ประเทศฟินแลนด์และสวีเดนแจ้งมายังประเทศไทยว่าปีนี้ผลผลิตเบอร์รี่ออกมาจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีคนงานไปเก็บผลไม้ป่า ประกอบกับเกิดภาวะสงครามระหว่างยูเครน รัสเซีย ทำให้คนงานยูเครนไม่สามารถไปเก็บผลไม้ป่าได้ ทำให้สวีเดนและฟินแลนด์จึงต้องร้องขอให้ไทยจัดส่งแรงงานมากขึ้นกว่าปกติ” นายไพโรจน์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีการคุ้มครองดูแลคนงานที่ไปเก็บผลไม้ป่านั้น สำหรับประเทศฟินแลนด์ไม่มีสัญญาจ้างให้กับคนงาน เนื่องจากกฎหมายในประเทศฟินแลนด์ไม่เอื้อ กกจ.จึงได้ผลักดันให้บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยจัดทำสัญญาจ้างงานให้คนงานไทยทุกรายก่อนเดินทางออกจากประเทศไทย และแจ้งให้สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยทราบ เพื่อยืนยันการปรับรูปแบบวิธีการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ให้เป็นรูปแบบนายจ้างในประเทศไทยขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ

อธิบดี กกจ. กล่าวว่า แต่สำหรับประเทศสวีเดนกฎหมายกำหนดให้บริษัทสามารถทำสัญญาจ้างงานระหว่างนายจ้างกับคนงานได้ ทั้งนี้ หากบริษัทผู้ประสานในประเทศไทยผิดสัญญา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบสัญญาจ้างตามกฎหมายเพื่อให้มีการดูแลคนหางานอย่างครอบคลุมเข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในเรื่องสวัสดิการ กกจ.ได้กำหนดมาตรการให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์/บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยต้องจัดเตรียมสวัสดิการทั้งที่พัก ห้องน้ำ ห้องสุขา ห้องรับประทานอาหาร อุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวและอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้คนงานไทยทุกคน รวมทั้งต้องทำประกันการเดินทาง ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพและได้มีหนังสือแจ้งให้สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยทราบแล้ว

“ส่วนเรื่องของการประกันรายได้ ในส่วนของฟินแลนด์กำหนดให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์/บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทย ต้องประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยโดยวางหลักประกันทางการเงินตามจำนวนที่ กกจ.กำหนด ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และหลังสิ้นสุดฤดูกาลต้องดำเนินการให้คนงานไทยมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30,240 บาท ส่วนการประกันรายได้ของคนงานที่สวีเดน กรณีคนงานที่ไปทำงานที่สวีเดน สหภาพแรงงานของสวีเดนได้มีเงินประกันรายได้ให้คนงานคนละ 24,000 โครน คิดเป็นเงินไทยกว่า 80,000 บาท ทั้งนี้ หากรายได้คนงานไม่ถึงจำนวนดังกล่าว บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายคนงานให้ครบ” นายไพโรจน์ กล่าว

Advertisement

อธิบดี กกจ.ยังกล่าวถึงกรณี กกจ.สร้างความน่าเชื่อถือให้เอกชนโดยจัดอบรมให้แรงงานก่อนไปเก็บผลไม้ป่า ว่า โดยปกติแล้ว กกจ.มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานไทยทุกคนก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศทุกประเทศอยู่แล้ว อาทิ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งการอบรมนี้เพื่อให้แรงงานได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ ของประเทศนั้นๆ ที่จะไปทำงานเพื่อให้แรงงานได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง แต่ในส่วนของสวีเดนและฟินแลนด์ บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทย เป็นผู้จัดอบรมเอง และบริษัทฯ ได้เชิญข้าราชการกระทรวงแรงงานไปเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่แรงงานด้วย ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนแต่อย่างใด

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยได้จัดส่งคนงานไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ประมาณ 10,000 กว่าคน ในจำนวนนี้พบว่า มีแรงงานไทยที่มีปัญหาในเรื่องรายได้ที่ได้ต่ำกว่า 30,000 บาทนั้น มีอยู่ประมาณ 375 คน ซึ่งร้อยละ 80 เป็นแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าเป็นครั้งแรก แรงงานเหล่านี้จึงยังไม่มีประสบการณ์ความชำนาญในการเก็บผลไม้ป่าจึงเก็บได้น้อยทำให้มีรายได้น้อย โดย กกจ.ได้เชิญบริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยมาดำเนินการนำเงินประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายที่บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยวางหลักประกันไว้ที่ ธกส.จ่ายเงินชดเชยให้แรงงานตามสัดส่วนครบทุกรายแล้ว

“กกจ.ขอยืนยันว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของ กกจ.มุ่งมั่นทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด และจากนี้ จะยิ่งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจติดตาม การประพฤติปฏิบัติต่อแรงงานของบริษัทนายจ้างในประเทศไทย หากพบว่ามีการเรียกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้อง เป็นธรรม หรือ การสนับสนุนให้แรงงานก่อภาระหนี้สิน จากเงินกู้นอกระบบ/เครือข่ายผิดกฎหมาย ผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบจะต้องได้รับโทษขั้นสูงสุด เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคนที่ไปทำงานต่างประเทศ ตลอดจนคุ้มครองมิให้คนไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์” นายไพโรจน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image