มาแล้ว! วัคซีนโควิดไฟเซอร์ รุ่น 2 กว่า 5 แสนโดส สธ.จ่อใช้เป็นเข็มกระตุ้น

มาแล้ว! วัคซีนโควิดไฟเซอร์ รุ่น 2 กว่า 5 แสนโดส สธ.จ่อใช้เป็นเข็มกระตุ้น

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหาร สธ. เข้าร่วมพิธีรับมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดรวม 2 สายพันธุ์ หรือไบวาเลนต์ (Bivalent) ซึ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 501,120 โดส ที่ได้รับการบริจาคจากประเทศเกาหลีใต้ โดยมี นายมุน ซึง ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนส่งมอบวัคซีนดังกล่าว

นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า เป็นครั้งที่ 2 ที่เกาหลีใต้บริจาควัคซีนให้ประเทศไทย โดยครั้งนี้บริจาคกว่า 5 แสนโดส

Advertisement

“ครั้งแรกบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 470,000 โดส นับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลเกาหลีใต้ให้การสนับสนุนเรื่องต่างๆ กับประเทศไทยตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนโควิด-19 ล็อตนี้ ได้ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว จะกระจายลงยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตามขั้นตอนต่อไป ระหว่างนี้ก็เปิดให้แต่ละจังหวัดแจ้งความประสงค์มาที่ส่วนกลาง เพื่อจัดวัคซีนไปให้ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้จะมีการบริจาควัคซีนหลายๆ ประเทศ แต่ต้องรอการรับทราบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะมีการประกาศต่อไป” นายอนุทินกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า วัคซีนทุกล็อตที่เข้ามาในประเทศไทยจะต้องผ่านการตรวจสอบ เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว จะกระจายลงไปในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป โดยวัคซีนรุ่น 2 นี้ เน้นเป็นเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ใช้หลักการเดิมว่า หากฉีดเข็มที่ 3 แล้ว เป็นเวลา 3 เดือน ก็ฉีดเข็มที่ 4 และหากฉีดเข็มที่ 4 ไปประมาณ 4 เดือน ก็ค่อยฉีดเข็มที่ 5 หากต้องการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 6 อีก ก็เว้นไว้ประมาณ 3-4 เดือน ค่อยฉีดกระตุ้นต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อสอบถามทางหน่วยบริการของ สธ.ได้

Advertisement

“วัคซีนดังกล่าวมุ่งใช้เป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป จากการวิจัย สามารถลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ ร้อยละ 30-50 ส่วนเรื่องของความปลอดภัย มีความปลอดภัยสูงมาก สามารถใช้ได้ทั้งรุ่น 1 และ รุ่น 2 เป็นเข็มกระตุ้นได้ สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนจากการที่ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ทั้งฉีดวัคซีน หรือติดเชื้อ ทำให้มีภูมิมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการติดเชื้ออาจมีบ้าง แต่อันตรายจากการติดเชื้อจนป่วยหนัก และเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้เราจะเปิดประเทศแล้ว” นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสหรัฐอเมริกายังมีการต่อต้านการใช้วัคซีน mRNA มองเรื่องนี้อย่างไร เพราะคนไทยบางส่วนอาจกังวลเรื่องความปลอดภัย และนักวิชาการบางส่วนบอกว่า วัคซีนไม่ควรฉีดมาก นายอนุทินกล่าวว่า คำว่าไม่ควรฉีดมาก ไม่ได้หมายถึงฉีดทุกเดือน ต้องดำเนินการตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

“ประเทศไทยทำมากกว่าประเทศอื่นๆ เยอะ ในเรื่องผลการศึกษาการฉีดวัคซีน คงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เราต้องดูผลลัพธ์ อย่างอัตราการติดเชื้อลดลง อัตราการเจ็บป่วยจนเข้าไอซียู อาการหนักๆ ก็ลดต่ำลง ส่วนคนที่ป่วยหนักจากการติดตามก็พบว่า มีโรคประจำตัวอื่นๆ และไม่ได้รับวัคซีนจนครบตามที่แนะนำไว้ ซึ่งคนที่ได้รับวัคซีนมากกว่า 4 เข็มขึ้นไป แทบไม่พบการเสียชีวิตจากโควิด-19 เว้นแต่เสียชีวิตจากเรื่องอื่นๆ” นายอนุทินกล่าวย้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image