‘ชัชชาติ’ มั่นใจคุ้มแน่ ขอสภา กทม. ‘เพิ่มงบ 9,999 ล้าน’ เร่งภารกิจ 6 ด้าน ช่วยประชาชนเดือดร้อน

‘ชัชชาติ’ เชื่อคุ้มแน่ แจงสภา กทม. ขอเห็นชอบเพิ่มงบ 9,999 ล้าน หลังหน่วยงานเสนอมา ใช้เร่งแก้ปัญหา 6 ด้าน ช่วยประชาชนเดือดร้อน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย นั่งเป็นประธานสภา กทม. พร้อมด้วยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีผู้เข้าร่วมได้แก่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งคณะ ทีมที่ปรึกษา ผู้ว่าฯกทม. ตลอดจนเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ร่วมประชุม

อ่านข่าว : ‘สภากทม.’ ร่วมอาลัย เตรียมต้อนรับ ‘USAR Thailand’ ทีมกู้ภัยไทย ช่วย ‘แผ่นดินไหวตุรกี’

โดยการประชุมครั้งนี้มีญัตติสำคัญที่นายชัชชาติ เสนอต่อสภา กทม. ได้แก่ ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. …

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวถึงหลักการและเหตุผลของการเสนอญัตติดังกล่าวว่า หลักการตั้งงบรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … เป็นจำนวนไม่เกิน 9,999,312,010 บาทถ้วนนั้น เป็นรายจ่ายพิเศษ จ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม.

เหตุผลเนื่องจาก กทม.มีความจำเป็นเร่งด่วนในการบริการชุมชน สังคม และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในการดำเนินการซ่อม สร้าง ฟื้นฟูและเยียวยาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของ กทม.ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง ด้านสาธารณสุขและการรจัดบริการของสำนักงานเขต ตามความจำเป็นที่หน่วยงานเสนอ จำนวน 9,999,312,010 ล้านบาทถ้วน

“กระผมจึงขอแถลงในรายละเอียด เกี่ยวกับฐานะการคลัง ความสัมพันธ์ระหว่างฐานะเงิน สะสม และงบรายจ่ายที่ขอตั้งโดยสังเขป ต่อที่ประชุมดังนี้

Advertisement

ฐานะการเงินการคลัง ของ กทม. ณ วันที่ 27 ม.ค. 2566 กทม.มีเงินฝากธนาคารเป็นเงินจำนวน 91,685.62 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินประเภทต่างๆ ดังนี้

1.รายรับหักรายจ่ายสุทธิคงเหลือ 11,456.94 ล้านบาท
2.เงินนอกงบประมาณที่มีภาระผูกพัน 4363.73 ล้านบาท
3.เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ยังไม่เบิก 11,984.80 ล้านบาท
4.เงินสะสมกรุงเทพฯ คงเหลือ 56,270.34 ล้านบาท
5.ทุนสำรองเงินคงคลังกรุงเทพฯ 7,609.81 ล้านบาท

นอกจากนี้ กทม.ยังมีภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 จำนวน 213 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 76,406.44 ล้านบาท จำแนกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.โครงการที่มีวงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน 35 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือจำนวน 53,865.12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.50

2.โครงการที่มีวงเงิน 500-1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน 29 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือ จำนวน 12,423.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.26

3.โครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท ประกอบด้วย 22 หน่วยงาน 149 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือ จำนวน 10,118.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.24” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า รายงานฐานะเงินสะสม ประจำปีงบ พ.ศ.2566 พ.ศ. … ณ วันที่ 27 ม.ค.2566 เงินสะสมยกมาต้นปีงบ 1 ต.ค.2565 เป็นเงิน 78,445.20 ล้านบาท หักเงินไว้กันเบิกเหลื่อมปี 16,821.45 ล้านบาท หักภาระผูกพันที่ทำให้ยอดเงินสะสมลดลง 19,308.90 ล้านบาท หักคาดการณ์การใช้เงินสะสม 10,600.00 ล้านบาท บวกคาดการณ์รับชดใช้เงินยืนสะสม 5,128.80 ล้านบาท คงเหลือเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน 38,643.65 ล้านบาท คณะกรรมการจัดทำรายจ่ายประจำปี มีมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 เห็นชอบกรอบวงเงินไม่เกิน 9,999.31 ล้านบาท

“สาระสำคัญของการจัดทำงบรายจ่ายเพิ่มเติม ผมขอเรียนว่า ร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … ที่ได้นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ได้พิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนตามภารกิจ แผนพัฒนา กทม. อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่รับงบ และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผมจึงขอเสนอเพื่อโปรดพิจารณารับหลักการในวาระ 1 โดยขอสรุปสาระสำคัญในการจัดทำงบ ปี 2566 จำแนกด้านตามลักษณะงานดังนี้

1.ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 61,439,640 บาทถ้วน
2.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จำนวน 3,945,666,600 บาทถ้วน
3.ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง จำนวน 136,102,000 บาทถ้วน
4.ด้านพัฒนาเมือง จำนวน 2,619,619,100 บาทถ้วน
5.ด้านสาธารณสุข จำนวน 328,815,900 บาทถ้วน
6.ด้านการจัดบริการของสำนักงานเขต จำนวน 2,907,668,770 บาทถ้วน

อาศัยตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 กทม.จึงขอเสนอร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 2566 พ.ศ. … เพื่อโปรดพิจารณา” นายชัชชาติกล่าว

จากนั้น มี ส.ก.ร่วมอภิปรายเป็นจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image