ศูนย์อนามัยเจริญพันธุ์ เผย ตัวเลขทารกจาก “แม่วัยใส” ลดเหลือ 4.7 หมื่นคน จากเคยสูงถึง 1.2 แสนคน เห็นด้วยนโยบาย “เด็กท้องต้องได้เรียน”

ศูนย์อนามัยเจริญพันธุ์ เผย ตัวเลขทารกที่เกิดจาก “แม่วัยใส” ลดลงเหลือ 4.7 หมื่นคน จากเคยสูงถึง 1.2 แสนคน เห็นด้วยนโยบายศธ. ให้นร.อุ้มท้องไปเรียนได้ เพิ่มโอกาสสร้างต้นทุนชีวิต สู่การทำงานหาเลี้ยงชีพ

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า “ท้องไม่พร้อม” คำที่สังคมไทยใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่น ตนมีความเห็นว่า “พร้อม” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างผู้ใหญ่มองคำว่าพร้อม อาจต้องดูถึงการมีบ้าน มีรถ มีเงินเตรียมไว้สำหรับเลี้ยงดูลูก แต่ขณะเดียวกันกลุ่มวัยรุ่นอาจจะคิดไม่ถึงขนาดนั้น คำว่าพร้อมของเขาจึงอาจหมายถึงความรู้สึกพร้อม แต่คิดไม่ถึงว่าการเลี้ยงลูก 1 คนต้องใช้แรงกาย แรงใจเท่าไหร่ จะกลับไปเรียนต่อได้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นว่า “พร้อม-ไม่พร้อม” เป็นเรื่องที่ประเมินยาก

นพ.บุญฤทธิ์ ให้ข้อมูลว่า “คุณแม่วัยใส” หรือหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปีที่ตั้งครรภ์ จากข้อมูลของสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่า สถานการณ์คุณแม่วัยใสในประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลปี 2554-2555 มีจำนวนการให้กำเนิดทารกจากแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สูงที่สุด ถึง 120,000 คน คิดเป็นอัตราถึง 53 ต่อพันคนของประชากรกลุ่มดังกล่าว กระทั่งผ่านมา 10 ปี ข้อมูลล่าสุด ปี 2564 ลดลงเหลือ 47,000 คน ทำให้อัตราการให้กำเนิดบุตรให้กลุ่มนี้เหลือ 24 ต่อพันคน นั่นหมายถึงจำนวนที่ลดลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเมื่อสิบปีก่อน

นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลและระบบริการผ่านคลินิกสุขภาพที่เป็นมิตร ทั้งให้คำปรึกษา ตรวจการตั้งครรภ์ ไปจนถึงการคุมกำเนิด นำมาสู่การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559

เมื่อถามถึงกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศกฎกระทรวง “เด็กท้องต้องได้เรียน” นพ.บุญฤทธิ์ มีความเห็นว่า เป็นทางออกที่ถูกต้องแล้ว เพราะช่วงก่อนที่จะออก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เมื่อปี 2559 เราพบปัญหาว่า หากมีเด็กตั้งครรภ์ โรงเรียนก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม และเด็กส่วนมากต้องออกจากการศึกษา โดยกรมอนามัยเคยทำข้อมูลการเฝ้าระวังแม่วัยรุ่น เพื่อถามเด็กวัยรุ่นที่มาฝากครรภ์ว่า เมื่อท้องแล้ว ได้เรียนต่อหรือไม่? พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือเมื่อปี 2559 คุณแม่วัยใส ได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิมเพียงร้อยละ 13 จากจำนวนทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งก็ลาออก หยุดเรียนไป หรือย้ายไปเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งแท้จริง เด็กที่ตั้งครรภ์ก็มีความยากลำบากในชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้น หากขาดวุฒิการศึกษา ก็จะส่งผลกระทบต่อการเข้าทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองกับลูกด้วย

Advertisement

“ฉะนั้น ทุกหน่วยงานจึงเห็นตรงกันว่า ในวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อย่างน้อยชีวิตเขาพลาดไปแล้ว เราควรเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ ได้กลับมาเรียนหนังสือ เพื่อเป็นต้นทุนในชีวิตของเขา เพื่อสามารถเลี้ยงดูตัวเองและลูกได้” ผอ.สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลปี 2564 พบว่า มีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แล้วได้กลับไปเรียนต่อเพิ่มขึ้นจากเดิม เป็นร้อยละ 33 ซึ่งมากขึ้นจากเดิมเกือบสามเท่า แต่ก็ยังมีเด็กเกินครึ่งที่ไม่ได้เรียนต่อที่เดิม แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นแนวโน้มที่ค่อยๆ ดีขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การให้เด็กที่ตั้งครรภ์ได้กลับมาเรียนต่อ ยังเป็นกระบวนการที่อยู่ในส่วนของ สธ. และ ศธ. แต่เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วก็ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการให้เงินสนับสนุนบุตรจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายละ 600 บาท โดยให้เฉพาะกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ประกันสังคม รายละ 800 บาท ให้เฉพาะกลุ่มผู้ประกันตน ซึ่งตนก็อยากเห็นความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานในภาพรวมเข้ามาช่วยดูแลให้คุณแม่วัยใสเข้าถึงระบบบริการด้านอื่นๆ สวัสดิการ เงินช่วยเหลืออื่นๆ ต่อไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image