รพ.สต.บางกร่าง นนทบุรี ชู “สะพานบุญโมเดล” งัด 6 กลยุทธ์ดูแลคนในพื้นที่ ผ่านชุมชนเข้มแข็ง

รพ.สต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี สร้าง “สะพานบุญโมเดล” ใช้ศักยภาพชุมชนเข้มแข็งร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้ความรู้การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต เยี่ยมบ้าน ฝึกอาชีพ สร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชน ชักนำกลุ่ม 608 รับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นได้ถึง 92%

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถือเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ เป็นที่คุ้นชินและไว้วางใจของประชาชน ซึ่งนอกจากภารกิจหลักในการรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพแล้ว ที่ รพ.สต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี ยังใช้ศักยภาพชุมชนเข้มแข็งมาพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้กับประชาชน ภายใต้ชื่อ “สะพานบุญโมเดล” โดยดึงทุกภาคส่วน ได้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า รพ.ศรีธัญญา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำรวจ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พระสงฆ์ จิตอาสา ประชาชน และภาคเอกชนในพื้นที่ มาร่วมให้ความรู้การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ผ่าน 6 กระบวนการ ได้แก่ 1.การสื่อสาร ให้ความรู้กับทีมสุขภาพ (อสม./จิตอาสา/ผู้นำชุมชน) เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 การเฝ้าระวังสุขภาพจิต สร้างวัคซีนใจ เพื่อถ่ายทอดและดูแลคนในชุมชนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ รวมทั้ง จัดฝึกอาชีพ เช่น การปลูกเห็ดโคนน้อย การทำเล็บเจล ขนมไทย กระเป๋าผ้าขาวม้า เป็นต้น

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า 2.คัดกรองโรคทางกายและสุขภาพจิตในชุมชนผ่านการเยี่ยมบ้านของ อสม. ที่ผ่านมาได้คัดกรองผู้มีความเสี่ยงจากแบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 2 คำถาม (2Q) 786 คน พบผิดปกติ 43 คน คัดกรองแบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 9 คำถาม (9Q) ต่อพบผิดปกติ 21 คน และคัดกรองด้วย 8 คำถาม (8Q) พบมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย 4 คน ได้ส่งพบแพทย์รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 3.การเยี่ยมบ้าน อาทิ ครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกจากโควิด โดยทีมสุขภาพจิตและเครือข่ายชุมชน เยี่ยมบ้านผู้ป่วยซึมเศร้า ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ รวมถึงมี อสม. ช่วยส่งยาให้ผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่สามารถมารับยาที่ รพ.สต. ทำให้สามารถรับยาได้ต่อเนื่องตามแผนการรักษาของแพทย์ 4.การดูแลผู้ป่วยโควิด ในระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2564 ถึง 30 มิ.ย.2565 ดูแลผู้ป่วย 1,003 คน ได้ครบ 100% ตามมาตรฐานการรักษา 5.มีการติดตามประเมินผล และ 6.นำไปใช้เป็นต้นแบบการดูแลในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

“สิ่งที่ได้จากโครงการสะพานบุญโมเดล คือ คนในชุมชนที่มีพลังเข้มแข็ง ทุ่มเทเพื่อสุขภาพของคนในชุมชนเอง ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนและยังเกิดความรู้สึกปลอดภัย สงบ มีความหวัง มีความเข้าใจและให้โอกาส นอกจากนี้ การติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในชุมชน ทำให้สามารถชักนำกลุ่ม 608 ในพื้นที่ให้รับวัคซีนโควิด เข็มที่ 3 ได้ถึง 92% คัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ 115 คน มะเร็งลำไส้ใหญ่ 185 คน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์เป้าหมายการคัดกรอง” นพ.สุรโชค กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image