สธ.ตอบชูวิทย์ ย้ำนโยบายกัญชา หนุนการแพทย์เท่านั้น แจงเหตุค้านบุหรี่ไฟฟ้า

สธ.ตอบชูวิทย์ ย้ำนโยบายกัญชา หนุนการแพทย์เท่านั้น แจงเหตุค้านบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถาม ประเด็นที่ภาครัฐสนับสนุน นโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่กลับต่อต้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ว่า เรื่องนี้ ทำความเข้าใจได้ไม่ยากเลย หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข คือ การหาทางเลือกด้านสุขภาพให้กับประชาชนอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่า อะไรดี ก็ต้องสนับสนุน ส่วนที่เป็นโทษก็ต้องควบคุม

“เราเห็นกรณีตัวอย่างจากพืชฝิ่น ที่นำมาผลิตเป็นยา ช่วยลดอาการเจ็บปวด กัญชาเองก็เช่นกัน ในส่วนที่ดีต้องนำมาใช้ประโยชน์ ในส่วนที่เป็นโทษ ได้ออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุขควบคุมไว้หลายฉบับ แต่ติดอยู่ที่การบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่นั้น ไม่เข้มแข็ง”

นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า ประโยชน์ของกัญชา ในทางการแพทย์ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แล้วได้ประโยชน์ เช่น ลดภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทจากระบบประสาทส่วนกลางที่ดื้อต่อยารักษา ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ เพื่อควบคุมอาการ อาทิ ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลไปทั่ว โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ เรามีผู้ป่วยด้วยโรค หรืออาการเหล่านี้เป็นจำนวนมากที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายกัญชาทางการแพทย์

Advertisement

“ขอย้ำว่า กว่านโยบายจะมาเป็นการปฏิบัติ ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอย่างเข้มข้น มีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ จากทุกภาคส่วน มาช่วยกันประเมิน การที่นโยบายออกไปได้ แสดงว่ามีการพิสูจน์เชิงประจักษ์แล้วว่ามีประโยชน์กับคนไทย มีความคุ้มค่า และต้องกำกับควบคุมครับ”

นพ.รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า ที่พบเห็นมีเพียงด้านเดียวคือ ที่เป็นโทษภัย สำหรับสารนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าในปริมาณที่สูง หรือแม้แต่ในบุหรี่มวนทั่วไปนั้น ในทางการแพทย์ชี้ชัดว่า ส่งผลเสียโดยตรงต่อสมอง และระบบประสาท และเมื่อเกิดการเสพติดสารนิโคตินแล้ว ร่างกายจะต้องการสารนิโคตินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าต้องเพิ่มปริมาณหยดน้ำยานิโคตินเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่สมองสั่งการ จนเกิดผลเสียต่อระบบอวัยวะในร่างกายหลายระบบ เช่น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญยังทำให้เซลล์ในร่างกายเจริญผิดปกติ จนกลายเป็นโรคมะเร็งในที่สุด รวมถึงผู้สูบได้รับนิโคตินเข้าสู่ร่างกายเพิ่มมากขึ้นไปด้วย และไอละอองสีขาวเหล่านี้แม้มีกลิ่นหอม แต่นั่นคือบุหรี่มือสอง และมือสามที่ทำลายสุขภาพผู้ที่ไม่สูบ และบุคคลรอบข้างได้เช่นกัน

Advertisement

“กรุณาอย่าเทียบกัญชา กับบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับกัญชา เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ขอให้เราใช้ในด้านดีๆ แล้วช่วยกันควบคุมการใช้ในด้านไม่ดี จะช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยนับล้านคน การควบคุมก็ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด กวดขัน กลับกัน บุหรี่ไฟฟ้า เรายังไม่เห็นมุมที่ดีต่อสุขภาพเลย ทั้งยังทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีทางสนับสนุน ในสิ่งที่มีแต่ทำลายสุขภาพ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image