จิตแพทย์ขอสังคมเข้าใจ ‘ไซโคพาธ’ ใช้กับอาชญากรโชกโชน ชี้เคส ‘นิ่ม’ สะท้อนปมท้องไม่พร้อม

จิตแพทย์ขอสังคมเข้าใจ “ไซโคพาธ” ใช้กับอาชญากรโชกโชน ชี้เคส “นิ่ม” สะท้อนปมท้องไม่พร้อม

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2566) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น ถึงกรณี น.ส.นิ่ม (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี ที่สารภาพทำ น้องต่อ ลูกชายอายุ 8 เดือน เสียชีวิต ว่า ถือเป็นอุทาหรณ์ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การท้องไม่พร้อม ทั้งฝ่ายพ่อ และฝ่ายแม่ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ และเป็นปัญหาทั้งระบบที่ สธ. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องร่วมดูแล

นพ.ยงยุทธกล่าวว่า กรณีดังกล่าวพบว่า เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งปกติจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 และกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ ดังนั้น หากเด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเข้าไปดูแล ให้คำปรึกษาตั้งแต่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และการดูแลหลังคลอดด้วย ยังไม่นับรวมถึงปัญหาครอบครัวที่อาจจะมีอยู่เดิม หรือปัญหาที่กำลังจะตามมาอีกด้วย

ส่วนที่มีการพูดต่อๆ กันว่า ผู้ก่อเหตุเป็นโรคไซโคพาธนั้น อยากให้สังคมเข้าใจว่า ไซโคพาธเป็นเรื่องบุคลิกภาพต่อต้านสังคม มักใช้ในกลุ่มที่มีประวัติอาชญากรรมโชกโชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หากมีภาวะนี้โดยแท้จริง จะไม่ได้รับการยกเว้นโทษ ยกเว้นว่า มีปัญหาจิตฟั่นเฟือน หรือมีจิตบกพร่องถึงจะได้รับข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม การดูแลเด็ก เยาวชน ที่กระทำผิดนั้น ตามกฎหมายจะเน้นเรื่องการฟื้นฟูเยียวยามากกว่าการลงโทษ และมุ่งให้เกิดการพัฒนาตนเอง สภาพจิตใจ ให้สามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้ ดังนั้น บทลงโทษจึงให้ไปอยู่ที่สถานพินิจ” นพ.ยงยุทธกล่าว

Advertisement

นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า ส่วนข้อสงสัยเรื่องปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดที่อาจจะเกิดกับแม่ทุกคนนั้น ความรุนแรงพบได้ประมาณร้อยละ 10-20 แต่ตัวแปรสำคัญคือ ภาวะดังกล่าวเป็นผลกระทบจากการตั้งครรภ์ที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นการซึมเศร้าเฉพาะตน ทำให้ตำหนิตนเอง และทำร้ายตัวเอง ส่วนการทำร้ายคนอื่นนั้น เกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม กรณี น.ส.นิ่ม อาจจะไม่รู้ว่ามีสวัสดิการช่วยเหลือกรณีท้องไม่พร้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย หรือหากประสงค์จะตั้งครรภ์ต่อ ก็จะมีระบบดูแลต่อ มีหน่วยงานเข้าไปดูแล รวมถึงมีเงินสวัสดิการสำหรับเด็กแรกคลอดเดือนละ 600 บาท เป็นเงินเบื้องต้นเท่านั้น นอกจากนี้ จะมีการอบรมอาชีพเพื่อให้ดูแลตัวเองได้ระยะยาว ซึ่งเป็นบทบาทของ สธ.ร่วมกับ พม. ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการดูแลปัญหาการท้องไม่พร้อม

ด้าน นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแม่วัยใส ที่มีปัญหาท้องไม่พร้อม จนนำไปสู่ปัญหาความรุนแรง และการทอดทิ้งลูก ว่า การเป็นแม่วัยใส มักจะพบปัญหา 2 ด้าน คือ 1.สุขภาพของเด็ก ที่อาจจะเกิดมาตัวเล็ก และ 2.ปัญหาสังคม ซึ่งเราไม่สามารถพูดได้ว่าคุณแม่วัยใสทุกคนเลี้ยงลูกได้ดี แต่คนเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ก็จะก่อเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่มีทั้งการทำร้ายตัว ทำร้ายคู่รัก หรือกระทั่งลูก ที่สำคัญคือ เด็กถูกทิ้งทำให้พัฒนาการด้านร่างกายไม่เหมาะสม นอกจากนั้น ยังเกิดปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง เพราะพ่อแม่ไปทำงานแล้วให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงที่อาจเลี้ยงดูไม่ดีนัก และอาจทำให้มีลูกเร็วเป็นช่วงๆ ต่อกัน บางครอบครัวตายายอายุน้อยกว่า 40 ปี จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.ป้องกันแก้ไขปัญหาฯ ที่ร่วมกัน 6 กระทรวง เพราะ สธ.ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ลำพัง โดยกรณีแม่วัยใสไปฝากครรภ์ เมื่อคลอดก็จะส่งต่อไปยัง พม. ที่จะมีทีมลงไปติดตามที่บ้าน พร้อมมอบเงินอุดหนุนเด็กเดือนละ 600 บาทตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ

“จากการพูดคุยกับแม่วัยใส ปัญหาคือ เขาไม่รู้ว่านี่คือปัญหา ไม่รู้ว่าจะต้องเลี้ยงลูกอย่างไร ไม่รู้ว่าเลี้ยงลูก 1 คน ต้องใช้เงินมากแค่ไหน ส่วนการซึมเศร้าหลังคลอดมีโอกาสเกิดได้ โดยทั่วโลกอาจจะเกิดได้ราวๆ ร้อยละ 7-8 อย่างไรก็ตาม หลังคลอดจะมีทีมที่คอยติดตามดูแลไปยังครอบครัวระยะเวลาหนึ่งด้วย” นพ.โอฬาริกกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image