รมว.สุชาติ สั่งลงดาบเพจปลอม ใช้โลโก้กรมการจัดหางานหลอกเหยื่อผ่านสื่อโซเชียล

รมว.สุชาติ สั่งลงดาบเพจปลอม ใช้โลโก้กรมการจัดหางานหลอกเหยื่อผ่านสื่อโซเชียล

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีข้อสั่งการให้ กกจ.เข้มงวดตรวจสอบ    เพจปลอมที่มีการนำตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้กรมการจัดหางาน ไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง เพื่อประกาศรับสมัครงาน เช่น รับสมัครงานพนักงานเสริมแพคสินค้า รับสมัครคุณแม่ทำงาน WFH รับสมัครทำงานอิสระระยะยาว รับสมัครคนไทยไปทำงานต่างประเทศโดยอ้างว่าจัดส่งผ่าน กกจ. เป็นต้น ซึ่ง กกจ.ขอเตือนไปยังคนหางานว่า หากพบเห็นการชักชวนให้สมัครงานในตำแหน่งต่างๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ยูทูบ เป็นต้น ในลักษณะดังกล่าว โปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจถูกหลอกให้เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครงานแต่ไม่มีงานรองรับ หรือหลอกลวงขอข้อมูลส่วนบุคคลและนำไปสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือนำไปสวมตัวตนสมัครแอพพลิเคชั่น ทางการเงิน หรือแม้กระทั่งนำไปหลอกลวงผู้อื่นต่อ

“กกจ.มีชุดตรวจสอบ เฝ้าระวังและตอบโต้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางต่างๆ ที่โพสต์โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยด้วยวิธีผิดกฎหมาย โดยจะแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใดๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท” นายไพโรจน์กล่าว

อธิบดี กกจ.กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเวรประจำวันซึ่งเป็นชุดเฝ้าระวังของ กกจ.แล้ว กกจ.ยังมีการประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti Fake News เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิดและนำข่าวที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อ รวมทั้งการดำเนินการของฝ่ายกฎหมาย กกจ.ที่ส่งเรื่องดำเนินคดีไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 มีเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 5 เรื่อง โดยทันทีที่พบเห็นผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงบนสื่อสังคมออนไลน์ ชุดเฝ้าระวังจะนำข้อความแจ้งเตือนที่ กกจ.ได้จัดทำขึ้น (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์ดังกล่าวทันที ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจสมัครงาน วิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ช่องทางการตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงพฤติการณ์ของผู้ที่หลอกลวงลวงคนหางานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ป้องกันการถูกหลอกลวง

Advertisement

ทั้งนี้ นายไพโรจน์กล่าวว่า หากพบเห็นประกาศเชิญชวนสมัครงานทางสื่อโซเชียล และไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้โพสต์ได้ เช่น ไม่มีรูปภาพจริงเจ้าของโพสต์ มีการนำตราของหน่วยงานราชการมาใช้ประกอบในการโพสต์เชิญชวน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ ซึ่งหากเป็นตำแหน่งงานในต่างประเทศ ต้องโพสต์โดยบริษัทหางาน ซึ่งขออนุญาตโฆษณารับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจาก กกจ.แล้วเท่านั้น บุคคลธรรมดาไม่สามารถกระทำการได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านเว็บไชต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือทาง Mobile Application “ไทยมีงานทำ” หรือติดตามข่าวสารของกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์กรมการจัด doe.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image