แพทย์ชี้ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” พบบ่อยในคนไทย แนะหมั่นสังเกตตนเอง ผิดปกติรีบพบหมอ

แพทย์ชี้ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” พบบ่อยในคนไทย แนะหมั่นสังเกตตนเอง ผิดปกติรีบพบหมอ

วันนี้ (1 มีนาคม 2566) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย สามารถพบได้ทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิด โดยพบได้ประมาณ 3,000-4,000 คนต่อปี มะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณรักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง นอกจากนี้ เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น

ด้าน พญ.ศศินิภา ตรีทิเพนทร์ อายุรแพทย์โรคเลือด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งประเภทออกเป็น

Advertisement

1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) ผู้ป่วยมักจะมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอและช่องอก ให้การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง โอกาสหายขาดสูง

2.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-hodgkin lymphoma) พบมาก และแบ่งย่อยออกได้อีกประมาณ 30 ชนิด แต่แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 แบบ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายเกิดอย่างรวดเร็ว มีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงตอบสนองกับยาเคมีบำบัดซึ่งออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วอยู่ค่อนข้างดี

“กลุ่มนี้ต้องรักษาทันที หากไม่รักษา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 6 เดือน ถึง 2 ปี แต่ถ้าได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสหายขาดจากโรคได้มาก แม้จะอยู่ในระยะไหนก็ตาม” พญ.ศศินิภา กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ พญ.ศศินิภา กล่าวว่า 3.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายค่อนข้างช้า อาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรง แต่เรื้อรัง กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายขาดด้วยเคมีบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ และติดตามอาการเป็นระยะ

“ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดได้จากทั้งการติดเชื้อทั้งไวรัส เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV), ไวรัสเอชซีวี (HCV), ไวรัสอีบีวี (EBV) การติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง, พันธุกรรม, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา, สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น การป้องกันของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง” พญ.ศศินิภา กล่าว

สำหรับอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง พญ.ศศินิภา กล่าวว่า แบ่งเป็น อาการทางระบบ หรือ B-symptom เช่น อาการไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์, เหงื่อออกตอนกลางคืน, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเบื่ออาหารผิดปกติ อาการเฉพาะที่ที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองโตในบริเวณนั้นๆ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดแน่นท้อง ท้องอืด ปวดศีรษะ เป็นต้น

“การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปัจจุบันให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่เริ่มมีการศึกษาวิจัยและนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน ฉายแสงในบางกรณี และการปลูกถ่ายไขกระดูกในเคสที่กลับเป็นซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคที่กลับเป็นซ้ำด้วยการใช้เซลล์บำบัด (CAR-T cell) ซึ่งยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยในประเทศไทย” พญ.ศศินิภา กล่าว

ติดตามความรู้ข่าวสารด้านโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และไลน์: NCI รู้สู้มะเร็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image