สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ เจ้าภาพประชุม AWFF หารือทลายขีดความสามารถการดูแลปชช.

สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ เจ้าภาพประชุม AWFF หารือทลายขีดความสามารถการดูแลปชช. รองรับสังคมสูงวัย ปรับสังคมเลิกมอง “คนแก่” เป็นภาระ เผย แผนยกระดับวิชาชีพยังขาดการลงทุนจากรัฐ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ศ.ดร.ศิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ แถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำพยาบาลระดับภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 21 (ASIA Workforce Forum :AWFF) ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม โดยมี นายฮาวาร์ด แคตตอน ผู้แทนสภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses) ร่วมการเป็นประธานการประชุม

ศ.ดร.ศิริอร กล่าวว่า การประชุม AWFF จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง โดยมีประเทศสมาชิกหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมร่วมกันครั้งที่ 21 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ พร้อมด้วยสมาชิกจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเก๊า มาเลเซีย ไต้หวัน และอินเดีย มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในเครือข่ายสมาคมพยาบาลในเอเชีย เพื่อร่วมกันหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาในการปฏิบัติงานของพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จัดอัตรากำลังพยาบาลในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และ เพื่อหาแนวทางในการร่วมมือส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะพยาบาลและวิชาชีพการพยาบาลระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย

ศ.ดร.ศิริอร กล่าวว่า องค์กรพยาบาลในประเทศไทย มี 3 องค์กรที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำประเทศและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คือ กองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข, สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ โดยเราทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อพยาบาลเท่านั้นแต่เพื่อสร้างการดูแลประชาชนให้มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัยตั้งแต่เติบโตและตายอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามพัฒนาขีดความสามารถของพยาบาลไทย ยังต้องได้รับการสนับสนุนและการลงทุนจากรัฐบาล เพื่อออกแบบให้การดูแลจากพยาบาลเข้ากับประชาชน โดยในขณะนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงวัย แต่การพยาบาลของเราไม่ได้ต้องการออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว เราต้องการสร้างความเข้าใจตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น และคนทำงานที่จะต้องรู้จักการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ ไม่เห็นมองเป็นภาระ ซึ่งพยาบาลสามารถทำความเข้าใจตรงนี้กับประชาชนได้ สมาคมพยาบาลฯ เสนอให้โรงเรียนพยาบาลมีหลักสูตรการสร้างความเข้าใจว่าพยาบาลต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้าใจสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง

Advertisement

“พยาบาลจะดูแลผู้สูงอายุไทยให้มีคุณภาพและมีชีวิตยาวนานที่สุด โดยไม่เป็นภาระ อย่างที่หลายคนมองว่าเมื่ออายุเกิน 80 ปีก็จะเป็นภาระให้ครอบครัวและสังคม ดังนั้น ถ้าให้พยาบาลดูแลจนถึงที่สุดไม่ว่าจะ 80 85 หรือ 90 ปี เราจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือจากสังคมและรัฐบาลน้อยมาก ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุได้มหาศาล” ศ.ดร.ศิริอร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image