ผลวิจัยชี้ขึ้นภาษีน้ำตาลเต็มสูบ 25 ปีแรก รัฐมีรายได้กว่า 8.3 แสนล้าน 

ผลวิจัยชี้ขึ้นภาษีน้ำตาลเต็มสูบ 25 ปีแรก รัฐมีรายได้กว่า 8.3 แสนล้าน

วันนี้ (2 มีนาคม 2566) ผศ.พจนา หันจางสิทธิ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงผลการศึกษาการคาดประมาณผลกระทบทางสุขภาพจากมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยเริ่มจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูงเกินกว่าระดับที่กรมสรรพสามิตกำหนด มีผลบังคับใช้ในปี 2560 การศึกษาได้ลงไปดูข้อมูลการเก็บภาษีที่แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 2 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เพื่อดูว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องมากที่สุดจากการที่มีดัชนีมวลกายสูง (BMI) สูง ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เมื่อมีการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ภาวะโรคเหล่านั้นเป็นอย่างไร

ผศ.พจนา กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มโรคไม่ติดต่อ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 3.2 แสนคนต่อปี โดยร้อยละ 55 เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 70 ปี ซึ่งจากการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการศึกษา พบว่า หากขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลง จะสามารถลดอัตราอุบัติการณ์หรือเคสเกิดใหม่ได้

Advertisement

“ผลการศึกษาคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ป้องกันได้ แยกแต่ละโรค เมื่อเทียบกับการมีการเก็บภาษี และไม่มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ณ ปี 2579 สามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ 21,000 คน โรคหัวใจขาดเลือด 2,000 คน โรคหลอดเลือดสมอง 1,100 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง โรคเบาหวาน 620 คน โรคหัวใจขาดเลือด 500 คนโรคหลอดเลือดสมอง 130 คน ทั้งนี้ ช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีในการรักษาโรคได้ถึง 121.4 ล้านบาท ขณะที่ปีสุขภาวะตลอดชีพของประชากรจะเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อคน ซึ่งหมายถึงปีสุขภาวะที่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เป็นโรค” ผศ.พจนา กล่าว

ทั้งนี้ ผศ.พจนา กล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วยว่า กรมสรรพสามิตควรพิจารณาเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงให้ถึงรอบที่ 4 ทำตามเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ ด้วยงานวิจัยนี้ได้ฉายภาพไปข้างหน้า คาดการประมาณผลที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษียังพบอีกว่า หากรัฐจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานเต็มรูปแบบจะมีรายได้ใน 25 ปีแรก (พ.ศ.2562- 2587) ถึง 830,000 ล้านบาท ทั้งหมดจะส่งผลให้ผู้มีภาวะโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้อลดลง อีกทั้งประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคของรัฐลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาลลงร้อยละ 25 หรือ ร้อยละ 50 จะสามารถลดจำนวนผู้มีภาวะโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมา การเก็บภาษีระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แทบไม่มีผลเรื่องของราคาสินค้าเลย ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำเรื่องการใช้มาตรการทางภาษี การเก็บภาษีน้ำตาล เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือสุขภาพประชาชนทางหนึ่ง แถมรัฐยังมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย `WIN-WIN’ ทั้งคู่ ประเทศไทยรัฐบาลอาจห่วงภาคอุตสาหกรรม จึงค่อยๆ เก็บภาษี แตกต่างจากบางประเทศใช้มาตรการทางภาษีที่เข้ม เช่น อังกฤษ จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดน้ำตาลลง” ผศ.พจนา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image