ปธ.ชมรม อสม. ขอบคุณ “อนุทิน” พร้อมเปิดมุมมองจิตอาสา กับ “สวัสดิการค่าป่วยการ”

หลังจากที่มติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบกับการนำเสนอของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ขอให้มีการปรับค่าป่วยการของ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)” จากเดิม 1,000 เป็น 2,000 บาท พร้อมเสนอผลดี คำนวณความคุ้มค่าการลงทุนจากรัฐจนเป็นที่ยอมรับขององค์ประชุม โดยช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่างก็มีความพยายามและร่วมกันผลักดันปรับขึ้นค่าป่วยการ อสม. ตามลำดับมาโดยตลอด ซึ่งขณะนั้นยังเป็นค่าเสี่ยงภัยที่พิจารณาจ่ายเพียง 30 เดือน ทำให้ อสม. ได้รับค่าป่วยการเพิ่มชั่วคราวเดือนละ 2,000 บาท ทว่าครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นแบบถาวร

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นายจำรัส คำรอด ประธานชมรม อสม. แห่งประเทศไทย และเป็นสมาชิก อสม. กว่า 30 ปี กล่าวว่า ความรู้สึกแรกที่ได้รู้ข่าวว่า รมว.สาธารณสุข ผลักดันเพิ่มค่าป่วยการ อสม. จนสำเร็จ ตนรู้สึกขอบคุณที่ท่านได้มาดูแล สธ. ได้มาคลุกคลีกับ อสม. ท่านเห็นความลำบากในการทำงาน ท่านก็พยายามช่วยเหลือด้านสวัสดิการเสมอมา ที่ไม่ใช่เฉพาะค่าป่วยการ ในนามของ อสม. ทั่วประเทศ ขอขอบคุณท่านอนุทิน ที่ไม่ทิ้ง อสม. ที่ดูแลการบริการสุขภาพประชาชนอย่างเต็มที่

นายจำรัส เล่าถึงความเป็นมาของ “อสม.” ว่า จากเจตนารมณ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เกิดเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ขณะนั้น มีฟันเฟืองสำคัญในการดำเนินงานคือ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ร่วมกับ อสม. ต่อมาในปี 2535 ได้ยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขให้มีเพียงระดับเดียวคือ อสม. ที่ต่างก็เสียสละแรงกายแรงใจ เวลาและทุนทรัพย์ในการดูแลคนในชุมชน และวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ครม.ได้มีมติอนุมัติให้ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ” ซึ่งขณะนั้น เป็นการทำงานอาสาโดยไม่มีค่าป่วยการ ทุกอย่างจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ทำให้มีจำนวนอาสาประมาณแสนกว่าคนเท่านั้น

ต่อมาในปี 2552 รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจ่ายค่าป่วยการให้ อสม. เป็นเงิน 600 บาท เพราะเห็นถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันกลับต้องเสียเงินในการทำงานอาสา จากนั้น ก็เริ่มมีการสมัครสมาชิกเข้ามาจนเต็มโควต้าที่ สธ. กำหนดไว้ ซึ่งการจะเป็นสมาชิก อสม. ใหม่ได้จะต้องมีที่ว่างจากการลาออก หรือสมาชิกเสียชีวิต หลายคนอยากเป็น อสม. เพราะเห็นว่ามีสวัสดิการ แต่ไม่ได้มาด้วยใจ เราจึงมีการอบรม มีการทดลองงานกว่าปี ทำให้แต่ละปีมีสมาชิกเพิ่มขึ้นไม่มาก

Advertisement

เมื่อปี 2562 มีการปรับค่าป่วยการ อสม. จาก 600 เป็น 1,000 บาท ซึ่งเป็นการปรับในรอบ 10 ปี แต่งานของ อสม. ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย หลายกระทรวงที่ต้องการเข้าถึงประชาชนในท้องถิ่น ก็ดำเนินการผ่าน อสม. โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 อสม. ทำงานหนักมาก ด้วยนโยบาย สธ. ที่อยากให้เป็น ‘อสม. 4.0’ เป็น ‘สมาร์ท อสม.’ ทำให้เรามีค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือน มีค่าเดินทางไปรับยาจากหน่วยบริการมาให้ชาวบ้านในชุมชน ค่าอาหารการกิน บางคนก็ซื้อผ้าอ้อมมาให้ผู้ป่วยติดเตียงเองด้วย ดังนั้นเมื่อค่าป่วยการเพิ่มขึ้นมา ก็ไม่ได้เหลือเอาไปใช้เรื่องส่วนตัวอะไร นอกจากนั้นเราได้เปิดสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นหลักประกันดูแลกันเอง ซึ่งเปิดรับสมาชิก อสม. และคู่สมรส ซึ่งตรงนี้จะมีการจ่ายรายเดือนประมาณ 320 บาท แต่หากสมาชิกเสียชีวิต ก็จะได้รับเงินฌาปนกิจ รายละ 500,000 บาท ขณะนี้มี อสม. เข้าร่วมเป็นสมาชิก 1.3 ล้านคน” นายจำรัส กล่าว

ประธานชมรม อสม.ฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีสมาชิก อสม. 1.07 ล้านคน รวมกับอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) อีก 20,000 คน เป็น 1.09 ล้านคน เฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประมาณ 30-40 หลังคาเรือน ซึ่งมีภารกิจเยอะมาก แต่หลัก ๆ คือ การเป็นหมอคนที่ 1 ตามนโยบาย 3 หมอ เพื่อช่วยเหลืองานของหมออนามัยในเบื้องต้น การดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ปลอดภัย ตรวจตราดูความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดต่าง ๆ ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยยาเสพติดในชุมชน และอีกหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งปัจจุบันเรามีการส่งผลการดำเนินงาน “แบบอสม.1” ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อประเมินงานก่อนที่จะส่งข้อมูลเบิกจ่ายค่าป่วยการไปที่กรมบัญชีกลางด้วย

“ค่าป่วยการที่เราได้มา อย่ามองว่าเป็นเงินเดือนอสม. เพราะชาวบ้านอาจไม่เข้าใจว่ามีความแตกต่างกัน การทำงานของเราทำด้วยจิตอาสา ไม่ได้เรียกต้องค่าตอบแทนใด ๆ แต่ด้วยเงิน 2,000 บาท ก็เกิดจากที่ท่านรมว.สาธารณสุข เห็นว่า อสม. ทำงานหนัก เพราะท่านก็ได้ลงมาสัมผัสกับเราจริง ๆ เราทำงานกันเต็มที่ด้วยจิตใจอาสา บางคนเสียชีวิตขณะลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เกิดอุบัติเหตุตามถนน เพราะต้องไปเยี่ยมบ้าน ไปส่งยาให้ผู้ป่วย ดังนั้นจะเอามาเทียบเป็นจำนวนเงินคงไม่ได้” นายจำรัส กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image