บอร์ด สปสช. เห็นชอบยกร่าง พ.ร.ฎ.ปลดล็อก 2 กองทุนใช้งบร่วมได้ เร่งมือส่งต่อ “อนุทิน” นำเข้า ครม. นัดประชุม 14 มี.ค.

บอร์ด สปสช. เห็นชอบยกร่าง พ.ร.ฎ.ปลดล็อก 2 กองทุนใช้งบร่วมได้ เร่งมือทำให้แล้วเสร็จก่อน 14 มี.ค. ส่งต่อ “อนุทิน” นำเข้า ครม.

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดสปสช. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในการยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) ทั้ง 6 ฉบับ เพื่อให้ประชาชนนอกสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อาทิ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สามารถรับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรืองบพีพี (PP) ได้ เพื่อส่งให้รมว.สาธารณสุข เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการออกพ.ร.ฎ. ต่อไป เบื้องต้นพยายามดำเนินการให้ทันการประชุมครม.ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ หรือยังพอมีเวลาก่อนจะมีการยุบสภาฯ ทั้งนี้ ตามหลักการแล้วหาก ครม. เห็นชอบร่าง ก็จะทำให้ประชาชนทุกกองทุนใช้งบส่งเสริมป้องกันโรคฯ ได้

แหล่งข่าวในที่ประชุมบอร์ดสปสช. กล่าวว่า ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่มีการหารือกัน ไม่มีปัญหาอะไร ที่เหลือก็รอให้ สปสช. ส่งร่างพ.ร.ฎ. ให้ รมว.สธ ส่งเข้าที่ประชุม ครม. ส่วนจะทันวันที่ 14 มี.ค. หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ สปสช. ว่าจะเร่งทำร่างเสร็จทันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถึงไม่ทันส่งเข้าที่ประชุมครม. เนื่องจากการยุบสภา แต่ก็สามารถนำเข้า ครม. ในรัฐบาลรักษาการได้ ส่วนกรณีมีภาคประชาชน ยังคงออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหางบส่งเสริมป้องกันโรคฯ ทั้งที่ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความแก้ไขปัญหา ด้วยการออกเป็น พ.ร.ฎ. ตามกฎหมาย เพื่อให้การใช้งบส่งเสริมป้องกันโรคฯ ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่มตามลำดับมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้เกิดคำถามว่า การเรียกร้องเกิดจากความไม่รู้เรื่องจริงๆ หรือเป็นการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลทางการเมืองกันแน่ เพราะใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จะมีกำหนดไว้ในมาตรการหนึ่ง ว่า งบประมาณในการดูแลประชาชนจะรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย ดังนั้น หากศึกษารายละเอียด ก็จะทราบข้อเท็จจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกา 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างฯ สำหรับผู้ใช้สิทธิ์สวัสดิการข้าราชการ 2. ร่างฯ สำหรับกลุ่มข้าราชการกรุงเทพมหานคร 3. ร่างฯ สำหรับข้าราชการสังกัดเมืองพัทยา 4. ร่างฯ สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจ 5. ร่างฯ สำหรับ องค์กรอิสระ และ6.ร่างฯ สำหรับกลุ่มผู้ประกันตน ซึ่งขณะที่ สปสช. ปิดระบบการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกา 6 ฉบับแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image