ยกระดับ “กองทุนบัตรทอง” ใช้ “นวัตกรรม” เพิ่มการเข้าถึงรักษาทุกโรค

ปี 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ให้คนไทยผู้มีสิทธิกว่า 46 ล้านคน ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้มุ่งยกระดับการให้บริการที่สามารถ “เข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น” ตลอดจน “ลดความแออัด” ให้กับโรงพยาบาล ผ่านการใช้ “นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่”

สืบเนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา สปสช. พบว่า การเพิ่มความครอบคลุมการรักษาให้ได้ทุกโรคนั้น ไม่เพียงพอทำให้ประชาชนพ้นจากความเจ็บป่วย เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยัง “เข้าไม่ถึง” บริการ ด้วยสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งจากปัญหาการเดินทางไปรับบริการสำหรับผู้ที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล คิวการรับบริการ และความแออัดในโรงพยาบาล

ประเด็นดังกล่าวถือ เป็นความท้าทายของ สปสช. นอกจากเป้าหมายทำให้บัตรทอง “รักษาได้ทุกโรค” แล้ว “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการ สปสช. เผยว่า จำเป็นต้องทำให้บัตรทองไปถึงคำว่า “ถ้วนหน้า” อย่างแท้จริง

Advertisement

•เปลี่ยนวิธีรับบริการ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นพ.จเด็จ อธิบายว่า นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เป็นชื่อเรียกในทางวิชาการ แต่จริงๆ แล้วคือ การปรับเปลี่ยน “วิธีการให้บริการ” ใน “รูปแบบใหม่” ที่เอื้อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น โดยใช้สิ่งที่ สปสช.ทำในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีความเป็นไปได้ เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน
ตัวอย่างเช่น แพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเจอตัวกันจริงๆ แต่ใช้การโทรศัพท์ที่มองเห็นหน้าผู้ป่วยเพื่อสอบถามอาการและวินิจฉัยโรคแทน หรือที่รู้จักกันในชื่อ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) ส่วนยาก็ใช้การส่งทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้านผู้ป่วยเพื่อลดการสัมผัส

“หลักคิดของนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เราใช้พฤติกรรม หรือความสะดวกของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง และหาวิถีทางสนับสนุนบริการเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงจุดที่สุด ต่างจากอดีต ที่โรงพยาบาลจะเป็นตัวตั้งบริการ ทุกอย่างจะกำหนดตามกรอบเวลาและระเบียนต่างๆ ของโรงพยาบาล” นพ.จเด็จกล่าว

เลขาธิการ สปสช.บอกว่า ฉะนั้น สปสช. ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณให้กับสถานพยาบาลเพื่อบริการประชาชน จึงต้องสนับสนุนนวัตกรรมบริการด้วย โดยปรับเปลี่ยนกลไกทางการเงินเพื่อผลักดันให้เป้าหมายที่ตั้งไว้จับต้องได้

Advertisement

“วันนี้ เวลาพูดว่า บัตรทองรักษาทุกโรค แทบไม่มีใครสงสัยแล้วว่ายังมีโรคใดที่บัตรทองรักษาไม่ได้บ้าง แม้แต่โรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ก็ครอบคลุมแล้ว หรือวันหน้าหากมีโรคใหม่อีก เราก็จะทำให้ครอบคลุมด้วย แต่ปัจจุบันคำว่า รักษาทุกโรคไม่เพียงพอต่อระบบบัตรทองแล้ว เพราะการรักษาโรคจำเป็นต้องไปด้วยกันกับการเข้าถึง” นพ.จเด็จระบุ

•นวัตกรรมบริการฯ วิถีใหม่ และที่เพิ่มเติมปี 2566
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ประกอบด้วย 1.ร้านขายยา ที่สามารถให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ เช่น บริการจ่ายยาคุมกำเนิด คัดกรองปัจจัยเสี่ยงสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นต้น 2.คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 3.บริการพบแพทย์ทางไกลเพื่อติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Telehealth Follow Up) 4.คลินิกกายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูบำบัดอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาล 5.จุดเจาะเลือดและตรวจแล็บนอกหน่วยบริการ (Lab) เพิ่มความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 6.บริการผู้ป่วยที่บ้าน (Home ward) หรือการยกโรงพยาบาลไปไว้ที่บ้าน โดยจะให้การรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) แต่ทำในที่พักอาศัยของผู้ป่วย นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการสำรองเตียงของโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นได้ด้วย

นพ.จเด็จ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2566 สปสช.ได้เพิ่มมาใหม่อีก 5 รายการ ได้แก่ 1.บริการสายด่วน “เลิกบุหรี่ 1600” เพื่อให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ และบริการสายด่วน “สุขภาพจิต 1323” เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต2.บริการระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านแอพพลิเคชั่นสุขภาพในโทรศัพท์ สำหรับรักษา 42 กลุ่มโรค/อาการโดยแพทย์ 3.บริการรับยาที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้าน สำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ 4.บริการตรวจแล็บที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ใกล้บ้าน (Lab Anywhere) บริการเจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ ทั้งกรณีรับบริการที่คลินิกและที่บ้าน พร้อมทั้งตรวจวิเคราะห์แบบเบ็ดเสร็จ ครอบคลุมบริการ 24 รายการ ขณะนี้มีคลินิกเทคนิคการแพทย์สมัครเข้าร่วมแล้ว 17 แห่ง และประสงค์สมัครเข้าร่วมเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง 5.บริการแจกถุงยางอนามัย ผ่านตู้กดถุงยางอนามัยอัตโนมัติ เพื่อการวางแผนครอบครัวและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเริ่มติดตั้งให้บริการที่ พัทยา และกำลังเตรียมขยายไปสู่มหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า

“เรากำลังดูว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรอีกบ้างที่สามารถให้ประชาชนไปรับที่ตู้กดได้อีก เช่น สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ถ้าหาไม่ได้ก็สามารถไปกดชุดตรวจมาใช้ได้เลย หรืออย่างมะเร็งปากมดลูก เดี๋ยวนี้ก็มีการทำแบบชุดตรวจด้วยตัวเองแล้ว รวมถึงการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะกระจายอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น” นพ.จเด็จกล่าว และว่า นอกจากนี้ สปสช. อยู่ระหว่างพิจารณาให้คลินิกเอกชนที่บริการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) กว่า 100 แห่ง มาร่วมให้บริการกับผู้มีสิทธิบัตรทอง เพื่อลดคิวรอคอยบริการในโรงพยาบาล และเข้าสู่การรักษาโดยเร็ว รวมถึงการเพิ่มเติมนวัตกรรมบริการที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง อย่างการตรวจทดสอบโรค (Self-test) เพราะเชื่อว่าอนาคตทิศทางบริการสุขภาพปฐมภูมิจะดำเนินไปในทิศทางที่ประชาชนดูแลตัวเองมากขึ้น

•บริการเพิ่ม แต่ใช้เงินน้อยกว่าเดิม
เลขาธิการ สปสช.อธิบายว่า นวัตกรรมบริการฯวิถีใหม่ ในปัจจุบัน และที่กำลังเพิ่มเข้าสู่ระบบ แม้ว่ามีค่อนข้างมาก แต่กลับไม่ส่งผลกระทบกับการบริหารงบกว่า 2 แสนล้าน ของ สปสช. ซึ่งจากความเชื่อในอดีต คือ เวลาเพิ่มบริการอะไร จะนำมาซึ่งการใช้งบที่เพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้ว อาจจะไม่ใช่ ทั้งยังอาจลดลงด้วยซ้ำ เช่น โควิด-19 เป็นตัวอย่าง เดิมผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 15 วัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 3 หมื่นบาทต่อคน ต่อมาปรับเป็นบริการแยกกักตัวที่บ้าน ค่าใช้จ่ายลดมาอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท ล่าสุดโครงการเจอ แจก จบ ที่ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเหลือเพียง 250 บาท เห็นเลยว่างบที่ใช้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ประชาชนได้รับการรักษาเหมือนเดิม มากไปกว่านั้นด้วยกลไกบริหารของ สปสช.ที่มีหลายรูปแบบ เช่น การเจรจาต่อรองด้วยจำนวนบริการปริมาณมาก ยังทำให้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามามีราคาที่เหมาะสมด้วย อย่างการใช้จีโนมิกส์ในการตรวจยีน (Gene) มะเร็งเต้านม ถ้าทำ 5-10 คน ราคาจะสูงมาก แต่ สปสช. เสนอกับผู้ที่จะให้บริการว่าต้องการจะตรวจให้กับ 6 หมื่นคน ทำให้ราคาลดลงอย่างมาก

“วันนี้ เวลามีใครมาบอกเราว่าค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น เพราะเพิ่มบริการ เราขออนุญาตคิดต่าง ถ้าเราบริหารจัดการดีๆ ค่าใช้จ่ายอาจจะเท่าเดิม ต่ำกว่า หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ หรือได้รับการรักษาที่ดีขึ้น เพราะอย่างน้อยที่สุด ประชาชนจะเสียค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ ลดลงแน่นอนจากการเพิ่มนวัตกรรมบริการนี้” นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image