‘บก.ลายจุด’ พยายามสุดๆ ‘ทางลาดคนพิการ’ ต้องแก้ไข! ขอไอเดียมหา’ลัย-โทรหากรมทางหลวง ก็ไม่รับ

‘บก.ลายจุด’ พยายามสุดๆ ขอไอเดียมหา’ลัย แก้ ‘ทางลาดคนพิการ’ โทรหากรมทางหลวง ไม่รับสาย พร้อมเดินหน้าช่วยเต็มที่

สืบเนื่องกรณี นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา โพสต์ข้อความร้องเรียน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงปัญหาการเดินทางของ ‘น้ำพุ’ ผู้พิการ ขณะเดินทางไปสัมภาษณ์งานเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบแท่งเหล็กขวางอยู่บริเวณทางลงสะพานลอย ถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายสมบัติจึงใช้เวลานับ 1 ชม. ในการคิดหาวิธีการ ก่อนตัดสินใจนำประแจมาถอดเหล็กที่ขวางทางออก นั้น

อ่านข่าว : เรื่องนี้ต้องถึงชัชชาติ! บก.ลายจุดคว้าประแจถอดแท่งเหล็กขวางผู้พิการ หลังคิดหนัก 1 ชม. เต็ม

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายสมบัติเปิดเผยความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า เมื่อเช้านี้ตนติดต่อไปยังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ช่วยออกแบบสะพานลอยเพื่อผู้พิการ รวมทั้งโทรศัพท์ไปประสานงานกับกรมทางหลวง แต่ไม่มีคนรับสาย

Advertisement

“เมื่อเช้าผมติดต่อไปที่ Antika Sawadsri ซึ่งเป็นคณบดี คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ – KMITL ว่าให้ช่วยคิดและออกแบบเรื่องสะพานลอยสำหรับคนพิการที่ใช้รถวีลแชร์หน่อย จากประสบการณ์ทำงานกับหน่วยงานรัฐ ผมจะไม่ทำแค่การเรียกร้อง ผมจะช่วยข้าราชการในการออกแบบและมีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกัน หมายความว่าผมพร้อมทำงานหนักไม่น้อยกว่าข้าราชการ และยินดีรับฟ้องและช่วยกันปลดล็อกข้อจำกัดของระบบราชการ

เอาจริงๆ ถ้าจะต้องหาเงินเพื่อมาสร้างหรือทำต้นแบบ ผมก็คิดว่าผมมีศักยภาพพอที่จะทำได้ เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องเป็นไปได้และไม่ทำอะไรเว่อร์จนเป็นภาระทางการเงิน

ก่อนเที่ยงผมพยายามโทรไปที่กรมทางหลวง เพื่อเตรียมประสานงาน จะไปพบและยื่นหนังสือที่เบอร์ 02354668 ซึ่งเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ เมื่อโอนสายไปที่โอเปอเรเตอร์ ก็พบว่าไม่มีคนรับ ผมพยายามอยู่พัก ตอนบ่ายผมจะโทรไปอีก และจะพยายามโทรจนถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบ

Advertisement

เอาจริงๆ ผมอยู่ไม่ได้ไกลมาก จะขับรถไปใน 1-2 วันนี้ก็จะทำ ถ้าโทรไปแล้วไม่มีคนรับสาย”

นอกจากนี้ นายสมบัติยังโพสต์ข้อความบอกเล่ารายละเอียดในวันเกิดเหตุด้วยว่า ตอนไปถอดเหล็กขวางรถวีลแชร์ออกแล้ว ตอนเย็นผมมีโอกาสหาข้อมูลว่าสะพานดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของใคร ปรากฏว่าเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวง และเข้าใจว่าตอนออกแบบครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อน ทางลาดชันนี้ออกแบบมาให้มอเตอร์ไซค์กลับรถได้ เข้าใจว่าตอนนั้นยังไม่มีสะพานกลับรถมากเพียงพอ ตอนนี้มีสะพานกลับรถแล้ว ควรคืนสิทธิสำหรับคนพิการได้ใช้

หลังจากผมเสนอปัญหานี้มีหลายท่านช่วยกันออกแบบและไปค้นคว้าวิธีการทั้งในและต่างประเทศมานำเสนอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมบัติยังได้แนบภาพไอเดียการออกแบบทางเท้าสำหรับผู้พิการที่มีชาวเน็ตเข้ามาเสนอแนะความเห็น อาทิ ทางเท้าของประเทศญี่ปุ่นที่ออกแบบโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ผู้พิการและคนทั่วไปสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยรถจักรยานยนต์ไม่สามารถขับผ่านได้ แต่จักรยานและวีลแชร์สามารถผ่านได้ เป็นต้น

นายสมบัติเผยด้วยว่า ตนได้พูดคุยกับคุณน้ำพุแล้ว มีความเห็นตรงกันว่าจะช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ต่อ ไม่เฉพาะสะพานลอยจุดนี้ แต่หมายถึงทุกสะพานลอยที่มีทางลาดเอียง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image