แพทย์ เปิดผลศึกษา “PM 2.5” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เตือน กระทบถึงโรคความจำ-สมองเสื่อม

แพทย์ เปิดผลศึกษา ‘ฝุ่น PM2.5’ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เตือน กระทบถึงโรคความจำ-สมองเสื่อม พบได้ตั้งแต่คนอายุน้อย รุนแรงไม่แพ้อัลไซเมอร์

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์อายุรศาสตร์ประสาทวิทยา ประจำศูนย์โรคระบบสมอง โรงพยาบาล (รพ.) นวเวช กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเรื่องนักแสดงชายบรูซ วิลลิส เป็นโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia) ซึ่งชื่ออาจจะไม่คุ้นหูกันเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่มักจะได้ยินถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ขณะที่ โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม พบได้ในคนอายุน้อยกว่า อายุเฉลี่ย 40-65 ปี มีหลายอาการ เช่น อาการหงุดหงิดฉุนเฉียว พูดคำหยาบ ด่าทอ โดยอาจจะเป็นจากนิสัยเดิมของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่เพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือเปลี่ยนไปจากนิสัยเดิมไปเลยก็ได้ (Behavioral type FTD) หรือบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา พูดไม่ได้ นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด มีปัญหาในการอ่าน เขียน (Language type FTD-primary progressive aphasia) ซึ่งจะแตกต่างจากโรคอัลไซเมอร์ ที่มักจะพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป อาการด้านความจำที่แย่ลงก่อนจากนั้น 5-10 ปีจะพบปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม การใช้ภาษาตามมา

“แต่ทั้งโรคความจำทั้ง 2 โรคนี้เกิดจากการมีของเสียมากผิดปกติแล้วไปสะสมในเซลล์สมอง ส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมของสมองเร็วกว่าคนทั่วไป ปัจจุบันเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับยีน (Gene) ที่ผิดปกติไป ปัจจุบันยังป้องกันหรือรักษาให้หายขาดไม่ได้ นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น เส้นเลือดสมองตีบ, เลือดออกในสมองบริเวณที่มีผลกับความจำ, การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ไอโอดีน วิตามินบี หรือธาตุเหล็ก, การติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น ซิฟิลิส หรือเอชไอซี และที่สำคัญมากๆ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งพวกเรากำลังประสบปัญหากันอยู่ก็คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5” นพ.ชยานุชิตกล่าว

นพ.ชยานุชิตกล่าวต่อว่า มีการศึกษาที่ยืนยันว่า PM2.5 รวมทั้งมลภาวะชนิดอื่นในอากาศมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง โดยเมื่อร่างกายเราได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าไป จะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกายไปจนถึงการอักเสบของเซลล์สมอง ส่งผลให้การทำงานของเซลล์สมองผิดปกติไป เกิดการตกค้างของสารพิษภายในเซลล์จนส่งผลให้มีปัญหาถึงสมองเสื่อมได้ จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาจากงานวิจัยในหัวข้อผลกระทบจาก PM2.5 ในระยะยาว (Long-term effects of PM2.5) เก็บข้อมูลเป็นเวลา 7 ปี ในคนอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี จำนวน 2,000,000 คน ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี PM2.5 พบว่าเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคสมองส่วนหน้าเสื่อม ถึงร้อยละ 16 ในทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.

Advertisement

“ต้องลองจินตนาการกันเองว่าเซลล์สมองเราจะเจ็บป่วยไปขนาดไหน เรื่องที่น่าตกใจคือ ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการศึกษาวิจัยชิ้นนี้อยู่แค่เพียง 8.8 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ ประเทศไทยในบางเดือนมีค่าฝุ่นขึ้นมากกว่า 100 มคก./ลบ.ม. บางเดือนดีๆ อาจจะแค่ 10-20 มคก./ลบ.ม. จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาของ PM2.5 ที่ส่งผลมาถึงสมองได้ร้ายแรงอย่างที่คาดไม่ถึง คนส่วนใหญ่จะทราบแค่เพียงส่งผลกับทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ แต่จริงๆ แล้วสมองก็บาดเจ็บไม่แพ้กัน” นพ.ชยานุชิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.ชยานุชิตกล่าวว่า การศึกษาในเด็กพบว่า เด็กรวมถึงทารกในครรภ์มารดา ที่อยู่ในมลภาวะที่มี PM2.5 ปริมาณสูง ต่างมีปัญหาของการพัฒนาสมองทั้งในแง่ความจำ ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนปัญหาด้านพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มที่อยู่ใน PM2.5 น้อยกว่า ฉะนั้น คำแนะนำคือ การป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 พร้อมติดตามค่าฝุ่น PM2.5 ในแต่ละวัน ในแต่ละพื้นที่ หรือใช้เครื่องมือวัดที่อาจจะมีกันในบ้านโดยส่วนใหญ่แล้ว ทั้งหมดก็พอจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาในระยะยาวซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่อาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image